15 September 2024
HOME
เมื่อโดเมนเนมกลายเป็นของหายาก
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
14 กรกฎาคม 2543
เนื่องจากโดเมนเนมประกอบด้วยกลุ่มของตัวอักษร ซึ่งใช้เป็นตัวแทนในการอ้างถึงที่ตั้งของเว็บไซต์ ต่างๆ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จึงมีข้อจำกัดในเรื่องของการตั้งชื่อที่จะต้องจดจำได้ง่าย สัมพันธ์กับชื่อขององค์กรธุรกิจและเครื่องหมายการค้าที่ใช้ ดังนั้นจึงถือได้ว่าโดเมนเนมเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งส่งผลให้เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงกันขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไร้ขอบเขตของอินเตอร์เน็ต เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่โยงใยไปทั่วโลก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ธุรกิจที่มี Brandname ที่ซ้ำกันแต่อยู่คนละประเทศจะต้องการจดโดเมนเนมชื่อเดียวกันเพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิด หากเว็บไซต์ ดังกล่าวไม่ได้เป็นของบริษัท ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการทำธุรกิจที่เรียกว่า Cybersquatting ซึ่งเป็นการหาโอกาสเก็งกำไรจากชื่อ เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) หรือเครื่องหมายบริการ (Service Mark) ของผู้อื่นบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยจะทำการชิงจดโดเมนเนมไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงส่งจดหมายยื่นข้อเสนอไปยังบริษัทเป้าหมาย หรือนำชื่อโดเมนเนมดังกล่าวไปประกาศขายตามเว็บไซต์ ที่เปิดประมูล เช่น Ebay.com หรือตาม Domain Name Broker ต่างๆ ซึ่งกรณีต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก และเป็นกรณีพิพาทที่มีการฟ้องร้องพิจารณาคดีกันถึงชั้นศาล โดยผลการพิจารณาตัดสินของศาลก็เป็นไปในหลายแนวทาง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะออกมารองรับในเรื่องนี้ ทำให้บริษัทที่ถูกจดชื่อโดเมนเนมที่เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทไปก่อน มีทางเลือกไม่มากนัก
จากปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่หลายประเภทบนอินเตอร์เน็ต ได้แก่ ธุรกิจประเภท Dispute-Resolution Provider ซึ่งเป็นเว็บไซต์ ที่รับปรึกษาว่าความคดีฟ้องร้องบนอินเตอร์เน็ต ธุรกิจที่ให้บริการในการตรวจสอบชื่อโดเมนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกค้าว่ามีชื่อใดที่ยังคงว่างอยู่ ซึ่งจะมีบริการส่ง E-mail มาแจ้งเตือนเมื่อมีผู้จดชื่อดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจประเภทที่ให้บริการในการตรวจสอบโดเมนเนมที่หมดอายุสัญญา ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถจะทำการจดเพื่อให้ได้สิทธิในการเป็นเจ้าของ (โดยปกติแล้วผู้ให้บริการรับจดโดเมนเนมจะมีการส่ง E-mail แจ้งเตือนไปยังลูกค้าก่อนที่โดเมนเนมจะหมดอายุประมาณ 30 วัน ซึ่งหลังจากหมดอายุแล้วหากผู้ที่ถือสิทธิเป็นเจ้าของยังไม่มีการต่อสัญญา โดเมนเนมดังกล่าวก็จะเข้าสู่สถานะ On-Hold อีก 30 วัน โดยในช่วงนี้โดเมนเนมนั้นจะถูกสงวนไว้ กล่าวคือผู้ที่ไม่ได้ถือสิทธิเป็นเจ้าของจะยังไม่สามารถเข้ามาซื้อได้ และหากผู้ถือสิทธิต้องการจะต่อสัญญาก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเพื่อทำการ Reinstatement แต่หากไม่มีการต่อสัญญาใดๆ จนครบกำหนด 30 วัน โดเมนเนมดังกล่าวก็สามารถที่จะถูกจดใหม่โดยบุคคลอื่นที่สนใจ)
จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นข้างต้น เราคงจะต้องย้อนกลับมาดูว่าโดเมนเนมที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่เท่าไร?
โดเมนเนมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. gTLD (Generic Top-Level Domain) มีอยู่ 7 กลุ่ม คือ โดเมนเนมที่ลงท้ายด้วย .com .net .org .edu .gov .mil และ .int ซึ่งปัจจุบันดูแลโดยหน่วยงานกลางชื่อ gTLD-MoU (The Generic Top Level Domain Memorandum of Understanding)
2. ccTLD (Country Code Top-Level Domain) เป็นโดเมนเนมที่จัดสรรให้กับแต่ละประเทศโดยจะลงท้ายด้วยตัวอักษร 2 หลัก ตามรหัสประเทศ (ISO-3166) เช่น .th .us .uk .jp ฯลฯ ซึ่งจะมีอยู่ทั้งหมด 244 กลุ่ม ดูแลโดยหน่วยงานกลางชื่อ IANA (Internet Assaigned Numbers Authority)
โดเมนเนมกลุ่ม .com เป็นกลุ่มที่นิยมจดกันเป็นมากที่สุดในโลกเนื่องจากความเป็นสากล (.com หมายถึงเว็บไซต์ที่ประกอบธุรกิจการค้าบนอินเตอร์เน็ต - Commercial Organization) โดยในปัจจุบันโดเมนเนมกว่า 10 ล้านชื่อก็ถูกจดอยู่ภายใต้กลุ่มนี้ และ .net ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการทางด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีจำนวนรองลงมา ส่วน .org ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไรจะมีอยู่น้อยที่สุด สำหรับการจดโดเมนกลุ่ม ccTLD นั้น ในปัจจุบันยังมีไม่มากนักเพราะวัตถุประสงค์ในการจดจะเป็นไปเพื่อบ่งบอกถึงการประกอบธุรกรรมภายในประเทศเท่านั้น อย่างกลุ่มของประเทศไทย คือที่ลงท้ายด้วย .th เช่น .co.th .net.th .or.th ฯลฯ รวมกันแล้วก็มีประมาณ 4,000 ชื่อเท่านั้น (ส่วนใหญ่ก็จะเป็น .co.th เช่นเดียวกัน)
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนดังกล่าวจึงมีความคิดที่จะออกโดเมนเนมใหม่อีก 7 กลุ่ม คือ
.firm สำหรับธุรกิจหรือบริษัท
.shop สำหรับธุรกิจซื้อขายสินค้า
.web กลุ่มที่ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ World Wide Web
.arts กลุ่มที่ทำธุรกรรมด้านบันเทิงและวัฒนธรรม
.rec กลุ่มที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ (Recreation)
.info กลุ่มที่ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร
.nom สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการทำเว็บไซต์ส่วนตัว
โดเมนเนมทั้ง 7 กลุ่มนี้จะถูกนำเข้าสู่การประชุมที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 13-17 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ ICANN พิจารณาตัดสินใจว่าสมควรประกาศโดเมนเนมกลุ่มใหม่นี้ออกใช้หรือไม่ เมื่อใด และจะใช้อย่างไร ใครสนใจเชิญนะครับ.. งานนี้ฟรี!
ก็ได้แต่หวังว่าโดเมนเนมกลุ่มใหม่นี้ จะไม่ถูกพวก Squatter ชิงจดไปซะก่อนอีก
ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
Home
|
Domain Name
|
Articles
|
FAQs
|
Contact Us
Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.
Domain Name
แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
บริการ NetRedirection
ค่าบริการจดโดเมนเนม
การชำระค่าบริการ
FAQs (คำถามที่พบบ่อย)
Contact Us