Domain@tCost
15 September 2024  

HOME
 
Cybersquatting ธุรกิจทำเงินของนักลงทุนบนเน็ต
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
14 กรกฎาคม 2543

ในขณะที่คนไทยหลายๆ คนกำลังเริ่มต้นที่จะมีโดเมนเนมและเว็บไซต์เป็นของตัวเอง คนอีกกลุ่มหนึ่งทั่วโลกก็กำลังทำเงินกันอย่างเงียบๆ จากธุรกิจที่ถูกเรียกว่า Cybersquatting ซึ่งสิ่งที่ผู้ลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ต้องทำก็เพียงแค่มองหาชื่อโดเมนเนมดีๆ ที่ยังไม่มีใครจด หรือชื่อธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าอาจเติบโตและก้าวเข้าสู่การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตในอนาคต แล้วก็จดไป จากนั้นก็อาจทำจดหมายแจ้งไปยังเจ้าของธุรกิจว่าต้องการขายชื่อโดเมนเนมดังกล่าวตามราคาที่เสนอ โดยยกเหตุผลในแง่ของประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจนั้นจะได้รับหากรับซื้อโดเมนเนมนี้มา รวมทั้งผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้โดเมนเนมซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนชื่อธุรกิจหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทต้องถูกขายต่อไปยังบุคคลอื่น นอกจากนี้ช่องทางการค้าชื่อโดเมนเนมยังอาจทำผ่าน Domain Name Broker หรือผ่านทางเว็บไซต์ที่รับประมูลที่มีอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต

จริงๆ แล้วธุรกิจชนิดนี้ไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งจะมี แต่มีการทำกันมานานแล้วตั้งแต่มีการนำเอาระบบชื่อโดเมนเนมมาใช้ในการอ้างอิงไปสู่เว็บไซต์ต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตัวไปทั้งวงการตั้งแต่ข้ามเข้าสู่ปี 2000 มานี้ เป็นผลเนื่องมาจากการเปิดเสรีการให้บริการรับจดโดเมนเนม ซึ่งส่งผลให้ราคาค่าบริการในการจดและรักษาสิทธิ์การใช้โดเมนเนมลดต่ำลงอย่างมาก ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์คือเมื่อมีผู้ขายมากราคาก็ถูกลง แต่การลดลงของราคาก็ไปกระตุ้นความต้องการในการจดโดเมนเนมให้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน และก็ส่งผลให้ธุรกิจ Cybersquatting เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะในภาวะที่โดเมนเนมกลายเป็นของหายาก บริษัทต่างๆ ก็พร้อมที่จะทุ่มเงินเพื่อซื้อสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดเมนเนมมา ด้วยเห็นว่าผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมาคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป นอกจากนี้กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่เพียงพอที่จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการแต่ละราย ยกตัวอย่างเช่นกรณีของบริษัท Juno Online Services, L.P. ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของโดเมนเนม juno.com ในขณะที่มีบริษัทที่ใช้ชื่อว่า Juno เป็นชื่อในการทำธุรกรรมอยู่อีกถึง 5 บริษัท (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา) กระจายอยู่ตามรัฐต่างๆ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งปัญหานี้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าบริษัทที่เหลืออีก 5 บริษัทมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้องสำหรับชื่อโดเมนเนมของตนอย่างไร

Dan Parisi ถือว่าเป็น Squatter รุ่นบุกเบิกคนหนึ่ง ในปี 1996 เขาจดโดเมนเนมกว่า 250 ชื่อโดยหวังผลที่จะนำมาขายเก็งกำไรในภายหลัง โดเมนเนมดังกล่าวมีอยู่หลายชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น whitehouse.com wallstreetjournal.com madonna.com alyssamilano.com เป็นต้น สำหรับ Squatter คนอื่นๆ ก็ได้แก่ Richard Conway ผู้จดโดเมนเนมในนามของบริษัท Global Media Communications ซึ่งเป็นเจ้าของโดเมนเนม spicegirls.com leedsunited.com markandspencer.co.uk ฯลฯ และ Julian Nicholson เจ้าของบริษัท Junic ซึ่งจดโดเมนเนมชื่อ spicegirls.org นอกจากนี้ Richard Conway และ Julian Nicholson ก็ยังร่วมกันตั้งบริษัท One in a Million Limited โดยจดโดเมนเนมอีกมากมาย ได้แก่ macdonalds.com burker-king.com sainsburys.com marksandspencer.com marconi.com buckinghampalace.org และอื่นๆ

แม้ว่าในปัจจุบันราคาของโดเมนเนมที่ถูกตั้งเพื่อประมูลขายตามเว็บไซต์ต่างๆ จะมีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลายล้านเหรียญสหรัฐ (โดเมนเนมชื่อ drpepper.com ก็เพิ่งถูกประมูลไปด้วยราคา 25,001 เหรียญสหรัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ ebay.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประมูลรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบันมีการประมูลชื่อโดเมนเนมผ่านเว็บไซต์นี้นับร้อยราย) แต่ธุรกิจการค้าชื่อโดเมนเนมก็ใช้ว่าจะมีอนาคตที่สดใสนัก เพราะในระยะหลังๆ เหล่า Squatter ก็เริ่มที่จะถูกฟ้องทวงสิทธิ์คืนจากผู้ประกอบการที่น่าจะเป็นเจ้าของชื่อโดเมนเนมที่แท้จริง ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งก็สามารถต่อสู้จนได้รับชัยชนะในชั้นศาลได้ในที่สุด

ยังไงซะก็อย่าเอาเยี่ยงเอาอย่างก็แล้วกัน เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายที่มีอยู่จะยังไม่สามารถเอาผิดกับเหล่า Squatter ได้ในทุกกรณี แต่มันก็เป็นเรื่องของจริยธรรมที่เราๆ ท่านๆ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปลูกฝังให้เกิดขึ้นให้ได้บนโลกกลมๆ ใบนี้


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ