Domain@tCost
19 April 2024  

HOME
 
จะทำอย่างไรถ้าโดเมนเนมถูกชิงจดไปก่อน
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
17 กรกฎาคม 2543

ปัจจุบันโดเมนเนมกว่า 20 ล้านชื่อ ถูกจดไปแล้วภายใต้ชื่อ .com .net และ .org และอีกประมาณ 40,000 ชื่อก็ถูกจดเพิ่มเข้าไปทุกๆ วันโดยผู้ใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากทั่วโลกซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะมั่นใจได้เลยว่าชื่อโดเมนเนมที่เราต้องการนั้นจะถูกจดไปแล้วหรือยัง และก็ไม่มีหนทางใดที่จะป้องกันนอกจากไปจดไว้ก่อน

กรณี mcdonalds.com ถือเป็นเรื่องแรกที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับปัญหาการจดโดเมนเนม ข้อพิพาทเริ่มต้นขึ้นจากบริษัท McDonald Corporation ซึ่งแต่เดิมได้ยื่นจดทะเบียนโดเมนเนมไว้กับ NSI (ในขณะนั้น Network Solutions Inc. ยังคงผูกขาดการให้บริการรับจดโดเมนเนมแต่เพียงรายเดียว) โดยใช้ชื่อว่า "mcd.com" (ปกติในสหรัฐอเมริกาจะรู้จักบริษัท McDonald Corporation ในชื่อทางการค้าว่า "Mcd") ต่อมานาย Josh Quittner ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ของนิตยสาร Wired ก็ได้ทำการจดโดเมนเนมในชื่อของ "mcdonalds.com" ซึ่งเมื่อทางบริษัท McDonald Corporation ทราบเรื่องก็ได้เรียกร้องขอชื่อโดเมนเนมดังกล่าวคืน ด้วยเหตุผลว่าชื่อโดเมนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์ ของบริษัท สุดท้ายเรื่องก็จบลงโดยบริษัท McDonald Corporation ยอมซื้อชื่อดังกล่าวคืนเป็นมูลค่า 3,500 เหรียญสหรัฐ โดยนาย Josh Quittner ได้นำเงินดังกล่าวไปบริจาคให้แก่มหาวิทยาลัยของรัฐ (ปัญหาเรื่องชื่อโดเมนเนมของบริษัท McDonald Corporation ไม่ได้จบลงเท่านี้ เพราะชื่อ macdonalds.com ก็ถูกจดโดยบริษัท One in a Million Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำ cybersquating รายใหญ่ และชื่อ macdonalds.co.uk ก็ถูกจดและนำมาเสนอขายเช่นเดียวกัน)

คดี Princeton Review ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานการศึกษาของนักเรียน บริษัทได้ทำการจดโดเมนเนมภายใต้ชื่อ "kaplan.com" แต่ต่อมาได้ถูกฟ้องโดยบริษัท Stanley H. Kaplan Education Center ซึ่งเป็นคู่แข่ง ว่าโดเมนเนมดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับชื่อของบริษัท สำหรับคดีนี้ ศาลได้พิพากษาอนุมัติวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอ คือให้ระงับการใช้โดเมนคำว่า kaplan.com

กรณี Siamweb ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ข้อพิพาทเริ่มต้นจากกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศที่จัดทำเว็บไซต์ ภายใต้ชื่อ www.siamweb.org เพื่อใช้ในการติดต่อและดำเนินกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนนักเรียนในประเทศไทย ต่อมาเว็บไซต์ ดังกล่าวเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงได้ยื่นขอจดโดเมนระดับล่างกับ THNIC เพิ่ม แต่ทาง THNIC ปฏิเสธ เนื่องจากชื่อดังกล่าวคล้ายกันกับ siamweb.co.th ซึ่งได้ยื่นจดไว้ก่อนแล้วโดยบริษัท สยามเว็บ จำกัด ซึ่งให้บริการทางด้าน Web Hosting ท้ายที่สุดคดีนี้คู่กรณีสามารถเจรจาตกลงกันได้

ถ้าหากยังจำกันได้ ในช่วงปี 2540-41 ประเทศไทยได้จัดโครงการปี Amazing Thailand ขึ้น โดยหลังจากที่ข่าวการประชาสัมพันธ์งานดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปในเดือนสิงหาคม 2540 นาย Cooney Carey ชาวแคนาดาก็ได้ส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทยในขณะนั้นว่าตนเป็นเจ้าของโดเมนเนมชื่อ amazingthailand.com และ amazingthailand.org โดยหากรัฐบาลไทยต้องการใช้ จะต้องขอซื้อจากตนในราคา 2,300,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งผลจากการจดทะเบียนดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนไปใช้โดเมนเนมชื่อ tourismthailand.org แทน

จากกรณีตัวอย่างที่หยิบยกมาให้ดู จะเห็นว่าทางออกของกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นสามารถเป็นไปได้หลายแนวทาง ดังนี้
1. ยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้อสิทธิในการเป็นเจ้าของโดเมนเนมคืนมา
2. เปลี่ยนไปจดโดเมนเนมเป็นชื่ออื่น ซึ่งไม่มีวันที่จะใช้แทนกันได้ 100%
3. ฟ้องศาล ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาได้เป็น 2 แนวทาง คือ
    • ศาลสั่งระงับการใช้โดเมนเนมชั่วคราว (ชื่อโดเมนเนมนั้นจะถูกระงับการใช้ไว้ ซึ่งก็หมายความว่าชื่อโดเมนเนมดังกล่าวจะไม่สามารถถูกนำมาใช้ให้เกิดความเข้าใจผิดได้อีกต่อไปจนกว่าศาลจะมีวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยก็จะไม่มีสิทธิ์ใช้โดเมนเนมนั้นได้ทั้งคู่)
    • คู่กรณีสามารถตกลงยอมความกันได้

ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดที่ออกมาควบคุมให้ความคุ้มครองแก่ชื่อทางการค้าของโดเมนเนมโดยตรง อย่างในกรณีของประเทศไทยการพิจารณาตีความก็จะอยู่ที่การตีความหมายของ "โดเมนเนม" ว่าถือเป็น "เครื่องหมายการค้า" หรือไม่ โดยจะนำมาพิจารณาเปรียบเทียบโดยใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

จะเห็นได้ว่ากฎหมายยังเอาผิดผู้ที่จดโดเมนเนมเป็นชื่อบริษัท หรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นได้ยาก การจดโดเมนเนมของคุณไว้ก่อนเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ความเสียหายที่เกิดจากความไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้นำมาซึ่งความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งย่อมไม่คุ้มค่าแน่นอน

วันนี้คุณจดโดเมนเนมของคุณแล้วหรือยัง?


อ้างอิงจากบทความเรื่อง "การคุ้มครองทางกฎหมายของโดเมนเนมบนอินเตอร์เน็ต"
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ, วารสารนิติศาสตร์, มีนาคม 2542


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ