Domain@tCost
15 September 2024  

HOME
 
โดเมนเนมมาจากไหน? (ภาค ๓)
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
18 สิงหาคม 2543

ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1998 NSI ได้รับการยืดสัญญาออกไปอีกครั้งจนถึงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าว บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนของ registry ที่ NSI เคยมีมาจะต้องยุติลง และต้องถูกผ่องถ่ายต่อไปยัง ICANN และ registry รายใหม่

คณะกรรมการบริหารของ ICANN ได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาบริหารระบบชื่อโดเมนเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากการวางนโยบายการให้สิทธิ์ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการรับจดชื่อโดเมน (Accredited Registrar) โดยพยายามเปิดช่องลดข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยหลักต่างๆ คือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ศักยภาพและแผนธุรกิจ และเงินทุนหมุนเวียน

โดยในช่วงเริ่มต้น ICANN ได้จัดให้มีโครงการทดสอบโดยเริ่มจากผู้ให้บริการทดสอบจำนวน 5 รายที่เปิดรับสมัครและคัดเลือกโดย ICANN โดยให้มีช่วงระยะเวลาทดสอบการให้บริการเพื่อดูแนวปัญหาทางด้านเทคนิคและการจัดการที่จะเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1999 และให้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิถุนายนปีเดียวกัน ต่อมาประสบกับปัญหาหลายประการโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการระบบฐานข้อมูล ทำให้ต้องเลื่อนระยะเวลาสิ้นสุดการทดสอบออกไปถึง 2 ครั้งจนมาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1999 และหลังจากโครงการทดสอบได้สิ้นสุดลง ICANN จึงอนุญาตให้เอกชนที่ผ่านการตรวจสอบรายอื่นเข้ามาเปิดให้บริการรับจดชื่อโดเมนโดยเสรีภายใต้การดูแลของ ICANN

และเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องกรณีพิพาทต่างๆ อันเกิดจากชื่อโดเมน และจากการผลักดันของ WIPO (The World Intellectual Property Organization) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 ICANN จึงตั้งคณะทำงาน DNSO Working Group ขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดย
Working Group A ศึกษาเรื่อง Dispute Resolution Mechanism เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดเครื่องหมายการค้าโดยการทำ Cybersquatting
Working Group C ศึกษาเรื่องแนวทางการปกป้องสิทธิ์ของเจ้าของชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จัก
Working Group B ศึกษาเรื่องการออก gTLD ใหม่เพื่อลดปัญหาความไม่เพียงพอของชื่อโดเมน
Working Group E ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไร้ขอบเขตทางภูมิศาสตร์บนเครือข่าย Internet ที่ส่งผลกระทบต่อชื่อโดเมน
โดยคณะทำงานทั้งหมดได้จัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1999 เพื่อรับฟังความคิดเห็น และได้ปิดรับความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมปีเดียวกัน

เนื่องจากการดูแลระบบฐานข้อมูลชื่อโดเมนในขณะนั้น NSI เป็นทั้ง registrar (ผู้ให้บริการรับจดชื่อโดเมน) และ registry (ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลชื่อโดเมน) ในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการรายอื่น เนื่องจากการจดชื่อโดเมนจะอยู่ภายใต้หลักจดก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) จึงได้มีการพัฒนาระบบ SRS (Shared Registry System) ขึ้นมาเพื่อให้สามารถแยกบทบาท registrar และ registry ของ NSI ออกจากกัน

โดยในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1999 ICANN, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (The U.S. Department of Comerce) และ NSI ก็ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีการให้บริการรับจดชื่อโดเมนในส่วนของ gTLD โดยได้มีการจัดแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบใหม่ดังนี้คือ
1. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DoC) จะเข้ามารับผิดชอบดูแลเว็บไซต์ InterNIC.net ซึ่งแต่เดิม DoC และ NSF ได้ว่าจ้างให้ NSI เป็นผู้ดูแล โดยจะปรับเปลี่ยนบทบาทของ InterNIC.net จาก registry (ที่ดำเนินงานโดย NSI) ไปเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจดชื่อโดเมน รวมทั้งการประกาศรายชื่อ Accredited Registrar
2. NSI จะต้องลงนามในข้อตกลง Accredition Agreement ซึ่ง regisrar ทุกรายต้องปฏิบัติตาม
3. NSI จะยังสามารถดูแลในส่วนระบบฐานข้อมูลหลักของ gTLD ได้ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยการทำงานทั้งหมดต้องถูกแยกส่วนออกจากส่วนของ registrar อย่างสิ้นเชิง และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 4 ปีหลังสิ้นสุดสัญญาหาก NSI ยังสามารถแยกการทำงานทั้ง 2 ส่วนออกจากกัน โดยข้อตกลงดังกล่าวได้มีการลงนามรับรองและประกาศออกสู่สาธารณะในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1999 โดย NSI ก็ได้เปิดเว็บไซต์ NSIregistry.net ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็น registry ตามข้อตกลงนับจากนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1999 ICANN, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DoC) และ NSI ได้ร่วมลงนามข้อตกลงอนุญาตให้ NSI เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ InterNIC.net ต่อไปในนามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มีเวลาในการผ่องถ่ายหน้าที่ความรับผิดชอบจาก NSI ไปยังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของ InterNIC.net ไปเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารและรายชื่อ Accredited Registrar ของชื่อโดเมนประเภท .com .net และ .org ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1999 ซึ่งถือเป็นวันแรกของการเปิดเสรีการให้บริการรับจดชื่อโดเมน

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา จำนวนของ Accredited Registrar ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีถึง 121 รายแล้วในปัจจุบัน (59 รายเปิดให้บริการเป็น registrar แล้ว ส่วนอีก 62 รายยังไม่เปิดให้บริการ) พร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนชื่อโดเมนทุกประเภท (โดยเฉพาะ .com)

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ICANN หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการเปิดรับสมัคร TLD Registry รายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา (ตามกำหนดการ) ซึ่งต่อไปจะมี registry มากกว่า 1 ราย แทนที่จะเป็นการผูกขาดการดูแลโดย NSIregistry อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยหลังจากปิดรับสมัครในวันที่ 1 ตุลาคม ก็จะมีการนำข้อมูลการสมัครบางส่วนเสนออกสู่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม โดย ICANN จะทำการประกาศรายชื่อ registry รายใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำไปสู่การเจรจาในวันที่ 20 พฤศจิกายน และจะสิ้นสุดการเจรจาและประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคมปี ค.ศ.2000 สิ้นปีนี้

เป็นอย่างไรครับ เรื่องราวความเป็นมาของโดเมนเนม ก็หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างกับผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความในเว็บไซต์ของเราตลอดมา รวมทั้งผู้อ่านที่แวะผ่านเข้ามาด้วย หากมีข้อผิดพลาดประการใดผมเองก็ขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ สุดท้ายก็ขอขอบพระคุณเว็บไซต์ต่างๆ ต่อไปนี้ที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ จนกลายมาเป็นบทความเรื่องประวัติความเป็นมาของชื่อโดเมนฉบับภาษาไทยชิ้นนี้ครับ

ICANN
DNSO
IANA
gTLD-MoU
NTIA
InterNIC
ThNIC
NSI
NSIregistry
Registry
ISC
DNSRD
DNS Domain Name System
How does a DNS server work?
Domain Name Registries Around The World
APDIP - Internet Governance Information Service
The New Domain Game
Geographic vs. Traditional Domain Hierarchies: A Look at Internet Naming Schemes
A Vision for the New Era of Domain Names in the 21st Century
Domain Name Handbook


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ