Domain@tCost
25 April 2024  

HOME
 
เขาตัดสินคดีชื่อโดเมนกันอย่างไร?
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
27 กันยายน 2543

ทุกวันนี้อ่านข่าวทีไรก็มักจะเจอเรื่องคดีฟ้องร้องชื่อโดเมน ไม่ว่าจะเป็น juliaroberts.com, madonna.com, newyorktimes.com และล่าสุดก็ชื่อโดเมนกลุ่ม louis vuitton ของคนไทยที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี เลยเกิดความสงสัยว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นยังไงมายังไง ใครผิดใครถูก ก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติมจนได้ข้อมูลมาพอสมควร จึงลองเขียนมารับใช้ผู้อ่านเพื่อแบ่งปันความรู้กันดังนี้ครับ

ปัญหากรณีพิพาทเกี่ยวกับชื่อโดเมนในปัจจุบัน มักจะเข้าไปมีส่วนพัวพันกับเครื่องหมายการค้า (Trademark) ไม่มากก็น้อย เพราะในปัจจุบันชื่อโดเมนไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงแค่ชื่อที่ใช้ในการอ้างอิงแทนตัวเลข IP อีกต่อไป มูลค่าของชื่อโดเมนมักจะเพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าของธุรกิจหรือบุคคลใดก็ตามที่มีความเกี่ยวพันกับชื่อดังกล่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่งและทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา แต่ความสำคัญของปัญหานั้นอยู่ที่ชื่อโดเมนที่ถูกนำมาใช้ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นมีธรรมชาติที่แตกต่างจากเครื่องหมายการค้า

เนื่องจากชื่อโดเมนไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานอยู่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเหมือนอย่างกรณีของเครื่องหมายการค้า ซึ่งจะได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายของรัฐภายหลังจากที่ได้มีการจดทะเบียนไว้กับสำนักงานของรัฐนั้นๆ เท่านั้น โดยไม่มีผลบังคับใช้ที่รัฐอื่น เช่น หากจดในประเทศไทยก็จะได้รับสิทธิคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 (หากต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในรัฐอื่นก็จะต้องจดทะเบียนแยกเป็นรัฐไป แต่สำหรับบางประเทศที่มีอนุสัญญาร่วมกันก็จะได้รับความคุ้มครองในกลุ่มประเทศนั้นทั้งหมด) โดยสิทธิความเป็นเจ้าของนี้จะคงอยู่ตลอดไป แต่จะต้องมีการต่ออายุใหม่ทุกๆ 10 ปี ซึ่งแตกต่างไปจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นที่มักจะจำกัดระยะเวลาในการคุ้มครอง (สิทธิบัตรคุ้มครอง 20 ปี , การออกแบบทางอุตสาหกรรม 10-15 ปี, ลิขสิทธิ์ 50 ปี ฯลฯ) โดยบุคคลหรือบริษัทที่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายนั้นจะไม่สามารถนำเครื่องหมายดังกล่าวมาใช้กับสินค้าหรือบริการของตน หากการนำมาใช้ดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดต่อสาธารณะ ซึ่งก็หมายความว่าเครื่องหมายการค้านั้นสามารถซ้ำซ้อนกันได้หากจดอยู่ภายใต้กฎหมายของคนละรัฐหรือเป็นสินค้าหรือบริการคนละประเภท เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็คงจะต้องมาดูว่าคำจำกัดความของเครื่องหมายการค้านิยามไว้อย่างไร เพื่อแก้ข้อสงสัยผมจึงลองถอดความออกมาจากเว็บไซต์ของ The World Intellectual Property Organization (WIPO) ก็ได้มาดังนี้ครับ

"เครื่องหมาย" หมายความถึง สัญลักษณ์ หรือการประกอบกันของสัญลักษณ์ หรือสิ่งซึ่งช่วยให้สามารถแยกแยะสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการรายหนึ่งออกจากรายอื่นๆ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวอาจประกอบขึ้นจากคำ อักษร ตัวเลข ลายเส้น หรือรูปภาพ เครื่องหมาย สีหรือการผสมกันของสี หรืออาจมีลักษณะเป็น 3 มิติ เช่น รูปแบบของหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้า (ซึ่งไม่จำกัดอยู่ภายใต้ถ้อยคำที่แสดงวัตถุประสงค์ของการใช้งาน) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการประกอบหรือนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันของสัญลักษณ์ซึ่งมีอยู่แล้วก็ได้

และใน พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 ก็ได้นิยามไว้ดังนี้ครับ
"เครื่องหมาย" หมายความถึง ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน แต่ไม่หมายความรวมถึงแบบผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
"เครื่องหมายการค้า" หมายความถึง เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
"เครื่องหมายบริการ" หมายความถึง เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

ก็หวังว่าคงพอจะขยายความของคำว่าเครื่องหมายการค้ากันได้ในระดับหนึ่งนะครับ ทีนี้ก็มาดูกันครับว่าความสับสนระหว่างชื่อโดเมนกับเครื่องหมายการค้านั้นมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร

MIT จดชื่อโดเมนมาตั้งแต่ปี 1985 ส่วน IBM ก็จดชื่อโดเมนมาตั้งแต่ปี 1986 แต่กรณีพิพาทเกี่ยวกับชื่อโดเมนเพิ่งจะมาปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อปี 1995 นี้เองครับ ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ
1. Cyberpiracy คือการอาศัยชื่อเสียงของบุคคล องค์กร หรือเว็บไซต์ดังๆ เพื่อหลอกให้คนเข้ามายังเว็บไซต์ของตนซึ่งจดชื่อโดเมนไว้ให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับชื่อทางการค้าหรือชื่อของบุคคล องค์กร หรือเว็บไซต์ดังกล่าว เช่น กรณีชื่อในกลุ่ม Dell ร่วมร้อยชื่อที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี รวมทั้งชื่อที่อาจเกิดจากการสะกดผิดหรือพิมพ์ผิด ที่บางท่านเรียกว่า Typosquatter ซึ่งจะมีรายได้มาจากค่าโฆษณาที่จะแปรตามจำนวน "hit" ของเว็บไซต์นั้นๆ อย่างในกรณีของ wallstreetjounal.com และ wallstreetjournel.com ที่เพิ่งจะมีการตัดสินให้โอนย้ายไปเมื่อไม่นานมานี้
2. Cybersquatter สำหรับกลุ่มนี้จะหาประโยชน์จากการหวังที่จะขายต่อชื่อโดเมนที่จดมา โดยจะแสดงเจตนาค่อนข้างเด่นชัดที่จะขายต่อ เช่น จดชื่อบุคคล องค์กร หรือเว็บไซต์ที่ตนเองไม่มีสิทธิ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น juliaroberts.com ซึ่งกรณีนี้จะเป็นคนละประเภทกับการจดเพื่อลงทุน (Cyberinvestor) ที่เป็นการคิดหาชื่อใหม่ที่น่าสนใจที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิ์หรือทำให้ใครเสียหายแล้วนำมาขายในตลาดค้าชื่อโดเมนต่างๆ ซึ่งจะต่างกันที่เจตนาครับ

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็ได้แก่การจดเพื่อกีดกันหรือทำลายคู่แข่ง เช่น จดชื่อคู่แข่ง หรือจดชื่อคู่แข่งผสมกับคำหยาบต่างๆ
(ว่ากันว่าสมัยที่ประธานาธิบดี Bush (ผู้พ่อ) หาเสียงนั้น คณะทำงานที่ดูแลเรื่องภาพพจน์ต้องจดชื่อโดเมนถึง 200 กว่าชื่อ ซึ่งบางส่วนในจำนวนนั้นก็เป็นชื่อที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะถูกคู่แข่งจดไปทำเว็บไซต์และนำไปปู้ยี่ปู้ยำจนคะแนนเสียงตก) นอกจากนี้ก็จะมาจากการละเมิดโดยไม่เจตนา เช่น ต่างก็มี Trademark แต่อยู่คนละประเทศหรือคนละอุตสาหกรรม หรือรายหนึ่งมี Trademark แต่ชื่อโดเมนที่ต้องการฟ้องนั้นได้รับการจดมาก่อนหน้าที่ Trademark นั้นจะจดเสียหลายปี หรืออย่างกรณีชื่อกลางๆ ที่น่าจะมีสิทธิ์ใช้กันหลายหน่วยงาน เช่น madonna.com ซึ่งสามารถใช้กับนักร้องซูเปอร์สตาร์ ใช้กับงานด้านศาสนา(ชื่อพระแม่มาเรีย) ใช้กับโรงพยาบาล(Madonna Rehabilitation Hospital) หรือศิลปินผู้มีชื่อเสียงหลายท่านที่เป็นเจ้าของผลงานในชื่อดังกล่าวในอดีต เช่น Raphael หรือแม้แต่สามัญชนคนธรรมดาที่มีชื่อว่า Madonna ฯลฯ

ในช่วงแรกๆ แนวทางพิจารณาคดีของศาลต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องชื่อโดเมนนั้นจะมองที่เจตนา ว่าชื่อโดเมนที่จดถูกนำไปใช้ในทางเสื่อมเสียหรือโดยเจตนามิชอบหรือไม่ ซึ่งหากสาเหตุของปัญหาไม่ชัดเจนหรือไม่เข้าข่ายนี้ ผลของคดีก็ยากที่จะคาดเดา

สำหรับในอเมริกาซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของชื่อโดเมนนั้น ในช่วงเริ่มแรกที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะออกมารองรับ การพิจารณาคดีของศาลจะดูตามหลักการ 3 ข้อของ Trademark Law (Lanham Act) คือ
1.) Trademark Infringement - การละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยจะมองในแง่ที่ทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด
2.) Trademark Value Dilution - การทำให้ชื่อเครื่องหมายการค้าเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสื่อมคุณค่า
3.) Unfair Competition - การจดชื่อโดเมนที่มีผลให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การจดชื่อคู่แข่ง
ซึ่งแนวทางนี้ก็ใช้กันเรื่อยมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 1999

ในเดือนกรกฎาคม 1995 NSI ก็ได้ออก Dispute Resolution Policy เพื่อช่วยในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับชื่อโดเมนซึ่งเริ่มจะมีมากขึ้นในขณะนั้น แต่เครื่องมือดังกล่าวนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก โดยหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นและผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อเครื่องหมายการค้าที่จดภายใต้กฎหมายของสหรัฐพบว่า มีการจดชื่อโดเมนที่เหมือนกับชื่อเครื่องหมายการค้าของตน ก็สามารถส่งหลักฐานการเป็นเจ้าของสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ NSI ซึ่ง NSI จะทำการพักการใช้ชื่อโดเมนดังกล่าวไว้หากเจ้าของชื่อโดเมนนั้นไม่สามารถหาหลักฐานการเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการแสวงประโยชน์จากชื่อดังกล่าวมาแสดง ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เจ้าของชื่อโดเมนจะไม่สามารถใช้งานชื่อโดเมนนั้นได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนัก เพราะชื่อโดเมนจะถูกพักการใช้งานไว้จนกว่าคู่กรณีจะตกลงกันได้ หรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น และในทางปฏิบัติ หากไม่สามารถติดต่อเจ้าของชื่อโดเมนดังกล่าวได้ NSI ก็มักจะยกประโยชน์ให้กับเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยอาจโอนย้ายชื่อโดเมนไปให้หรือยกเลิกชื่อโดเมนดังกล่าวไปเลยก็ได้

นโยบายนี้ส่งผลต่อการพิจารณาคดี ทำให้มีความไม่แน่นอนและยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเปิดโอกาสให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถสั่งพักการใช้งานชื่อโดเมนที่มีปัญหาได้ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นว่ามีการละเมิดหรือทำให้เครื่องหมายการค้าของตนเสื่อมค่าลงก็ตาม ดังที่รู้จักกันในชื่อของ “reverse domain hijacking” อย่างในกรณีของ veronica.com ที่บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้าพยายามที่จะฟ้องเอาชื่อโดเมนดังกล่าวมาจากพ่อผู้ซึ่งทำเว็บไซต์เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำให้กับลูกสาววัย 2 ขวบ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของชื่อโดเมนที่จะฟ้องได้นั้นต้องเป็นชื่อเดียวกับชื่อเครื่องหมายการค้าด้วย หากเป็นเพียงชื่อที่คล้ายคลึงหรือมีชื่อเครื่องหมายการค้าเป็นส่วนประกอบก็ไม่สามารถสั่งพักการใช้งานชื่อโดเมนนั้นได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานชี้ชัดว่ามีเจตนามิชอบก็ตาม ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของ Trademark Law ซึ่งศาลใช้เป็นหลักในการพิจารณาในขณะนั้นที่จะมองที่เจตนามากกว่าชื่อที่ต้องเหมือนกัน (นี่ยังไม่รวมปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีที่เริ่มต้นที่ $15,000-$20,000 และระยะเวลาการพิจารณาคดีที่อาจยาวนานตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 3 ปี)

29 พฤศจิกายน 1999 สภาคองเกรสสหรัฐได้ออก Anti-Cybersquatting Consumer Protection Act (ACPA) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Anti-Cybersquatting Act โดยเพิ่มเติมเข้าใน Lanham Act ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1946 เพื่อขยายขอบเขตการนำมาใช้พิจารณาคดี Cybersquatting ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวจะเน้นในเรื่องของการจดชื่อโดเมนโดยมีเจตนามิชอบ "Bad Faith" ซึ่งการปกป้องจะรวมไปถึงชื่อบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีการจดเป็นเครื่องหมายการค้าด้วย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นถึง 100,00 เหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคดีภายใต้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังค่อนข้างสูงอยู่

แนวทางระงับกรณีพิพาทเกี่ยวกับชื่อโดเมนอีกแนวทางหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อของ UDRP (Uniform Domain-Name Dispute Resolution Policy) ซึ่งออกโดย ICANN (ได้รับการพัฒนาโดย WIPO จากการร้องขอของรัฐบาลสหรัฐ) ซึ่งได้ถูกกำหนดอยู่ในข้อตกลงของ Accredited Registrar ทุกรายของ ICANN และมีการนำออกมาใช้ในเวลาไล่เลี่ยกันคือในวันที่ 1 ธันวาคม 1999 เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพิจารณาคดีชื่อโดเมนทั่วโลก ซึ่ง UDRP นี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าและใช้เวลาในการพิจารณาคดีที่รวดเร็วกว่า (เฉลี่ยประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น) โดยผู้ต้องการฟ้องสามารถจะเลือกใช้บริการของ Dispute Resolution Provider ที่ได้รับการรับรองจาก ICANN ซึ่งมีถึง 4 รายในปัจจุบัน ได้แก่ CPR Institute for Dispute Resolution [CPR] , Disputes.org/eResolution Consortium [DeC] , The National Arbitration Forum [NAF] และ World Intellectual Property Organization [WIPO] ซึ่งเปิดให้บริการเป็นรายแรกและได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคดีของแต่ละรายดูได้ที่นี่ครับ
CPR    DeC    NAF    WIPO

* DeC ได้เปลี่ยนชื่อเป็น eRes (eResolution) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 *

จนถึงเมื่อวานนี้มีคดีที่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ Dispute Resolution Provider ถึง 1,861 คดี (3,399 โดเมน) จากทั่วโลก ดูสถิติล่าสุดได้ ที่นี่ครับ และหากต้องการดูสถิติในรูปของแผนภูมิวงกลมที่ดูง่ายกว่า เชิญตรงนี้ครับ (เฉพาะคดีของ WIPO เท่านั้น)

สรุปการพิจารณาคดีตาม UDRP จะมีแนวทางดังนี้ครับ
สำหรับโจทก์: จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่า
1. ชื่อโดเมนดังกล่าวเหมือนหรือทำให้เกิดความสับสนกับเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่โจทก์มีสิทธิ์อยู่ และ
2. จำเลยไม่มีสิทธิ์หรือผลตอบแทนอันพึงได้ตามกฎหมายจากชื่อโดเมนนั้น และ
3. ชื่อโดเมนดังกล่าวได้ถูกจดและนำมาใช้โดยมีเจตนามิชอบ (Bad Faith)
สำหรับคณะลูกขุน: จะอาศัยหลักฐานแวดล้อมต่างๆ ดังต่อไปนี้ ในการพิจารณาประเด็นการจดและใช้โดยมีเจตนามิชอบ
1. มีหลักฐานแวดล้อมที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้จดชื่อโดเมนนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหวังกำไรจากการขายต่อ โอน หรือให้เช่าแก่โจทก์หรือคู่แข่งของโจทก์ หรือวิธีการอื่นใดที่ทำให้โจทก์ต้องเสียทรัพย์ หรือ
2. จำเลยได้จดชื่อโดเมนดังกล่าวเพื่อกีดกันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ให้สามารถจดชื่อดังกล่าวได้ หรือ
3. จำเลยได้จดชื่อโดเมนดังกล่าวเพื่อหวังทำลายหรือสร้างความวุ่นวายให้กับธุรกิจของคู่แข่ง หรือ
4. จำเลยได้ใช้ความสับสนในชื่อโดเมนดังกล่าวมาแสวงประโยชน์ทางการค้า จากการเปิดเว็บไซต์โดยหวังโฆษณา ขายสินค้า ฯลฯ
สำหรับจำเลย: จะต้องแสดงให้เห็นว่า
1. ก่อนที่จะมีการฟ้องคดี จำเลยได้ใช้หรือแสดงให้ห็นว่าต้องการใช้ชื่อโดเมนดังกล่าวด้วยเจตนาบริสุทธิ์ในการขายสินค้าหรือบริการของตน หรือ
2. จำเลยสามารถแสดงให้เห็นว่าชื่อโดเมนดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับชื่อของจำเลย หรือชื่อธุรกิจ หรือชื่อองค์กรของจำเลย ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป หรือ
3. จำเลยต้องแสดงให้เห็นว่าไม่ได้นำชื่อโดเมนมาแสวงประโยชน์จากความเข้าใจผิด หรือทำให้เครื่องหมายการค้าหรือบริการเสื่อมคุณค่าลงไป

ทุกวันนี้ ICANN พยายามที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงนโยบายยุติข้อพิพาทของ ccTLD ในประเทศต่างๆ ซึ่งก็หมายความว่า UDRP ที่ครอบคลุม gTLD ทุกประเภท จะไม่มีผลบังคับใช้กับผู้จดชื่อโดเมภายใต้ ccTLD เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีกฎหมายและหลักจารีตของสังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีบางประเทศเหมือนกันที่พยายามปรับกฎหมายโดยนำ UDRP มาใช้ในการแก้ปัญหากรณีพิพาทภายใต้ชื่อโดเมนของตน ซึ่งได้แก่
.AC (Ascencion Island)
.AS (American Samoa)
.GT (Guatemala)
.NU (Niue)
.SH (St. Helena)
.TV (Tuvalu)
.AG (Antigua & Barbuda)
.CY (Cyprus)
.NA (Namibia)
.PH (Philippines)
.TT (Trinidad and Tobago)
.WS (Western Samoa)

ส่วนแนวทางของศาลอังกฤษ เยอรมัน แคนนาดาและนิวซีแลนด์จะให้สิทธิ์กับเจ้าของเครื่องหมายการค้าก่อนหากเกิดปัญหาเรื่อง cybersquatting ขึ้น สำหรับศาลเบลเยี่ยมจะพิจารณาจากเจตนาในการแสวงประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจเป็นสำคัญ ส่วนในกรณี .US ของสหรัฐ สำนักงานกฎหมายสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐได้ระบุว่าชื่อโดเมนจะต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่นๆ และจะไม่สามารถจดให้เหมือนกับชื่อเครื่องหมายการค้าที่ได้มีการจดกับ Trademark Law แล้ว โดยการตัดสินว่าชื่อโดเมนใดเข้าข่ายเครื่องหมายการค้าหรือไม่ จะพิจารณาจากการใช้งานว่าเป็นไปในลักษณะของเครื่องหมายการค้าหรือเพียงเพื่ออ้างอิงที่อยู่ของเว็บไซต์ ในกรณีที่เว็บไซต์เป็นเพียงจุดโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทก็จะไม่เข้าข่าย แต่หากว่ามีการใส่ชื่อโดเมนลงบน banner ซึ่งมีการแสดงอย่างชัดเจนในเว็บไซต์นั้นๆ ในลักษณะเป็นสัญลักษณ์ของเว็บไซต์ (secondary meaning) ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยสาธารณะ ก็จะถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้า

สำหรับในแนวทางการตัดสินคดีในไทย คุณปราณี ดิศโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหมายการค้าได้ให้คำยืนยันผ่านทาง กระทู้หนึ่ง ในเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า "ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการจดโดเมนเนมในประเทศไทย" และจากที่ผมได้เคยขอความเห็นจากท่านไพโรจน์ วายุภาพ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ก็ทราบมาว่าปัจจุบันศาลไทยยังไม่เคยมีการพิจารณาคดีฟ้องร้องเรื่องชื่อโดเมน มีเพียงการฟ้องเรื่องชื่อบริษัทห้างร้านเท่านั้น ซึ่งหากเกิดการฟ้องคดีเรื่องชื่อโดเมนก็คงจะต้องพิจารณาจากลักษณะของความเป็นชื่อนั้นว่าเกิดขึ้นมาพร้อมสิทธิ์ดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นเพียงการอ้างอิงตำแหน่งแทนเลข IP สิทธิ์ดังกล่าวก็คงไม่มี...

ส่วนแนวทางของชื่อโดเมนประเภท .TH ที่ดูแลโดย THNIC นั้นจะใช้การควบคุมผ่านทางสิทธิ์ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น และเพิ่งมีประกาศออกมาว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 จะอนุญาตให้บริษัท/ห้างหุ้นส่วนต่างๆ สามารถจดชื่อโดเมนภายใต้ .CO.TH ได้มากกว่า 1 ชื่อ (จากที่กำหนดไว้ให้แต่ละบริษัทสามารถจดได้เพียง 1 ชื่อเท่านั้น) โดยชื่อดังกล่าวจะต้องเป็นชื่อ/ชื่อย่อ/ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อบริษัท หรือเป็นชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และจะยึดตามหลัก First Come First Serve สำหรับสิทธิ์ในการจดชื่อโดเมนนั้น และหากเกิดกรณีพิพาทขึ้น คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องทำการตกลงกันเองและแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทาง THNIC ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดย THNIC จะไม่เป็นตัวกลางในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ก็หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์และสามารถให้ข้อมูลพื้นฐานพอเป็นแนวทางสำหรับหลายๆ ท่านที่ยังประสบปัญหากับเรื่องการละเมิดสิทธิ์ในชื่อโดเมน หากท่านมีความสนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญแวะไปที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ครับ


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ