|
จดชื่อดังๆ เก็บเอาไว้.. เก็งกำไร |
|
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์ |
|
9 กุมภาพันธ์ 2544 |
|
สำหรับหลายๆ คนที่ยังเข้าใจผิดคิดว่า หากวันนี้มีโอกาสจดชื่อบริษัท ดารานักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่ชื่อผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการดังๆ มาเก็บเอาไว้ โดยแค่จดเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่เสนอขาย ไม่เอาไปทำเว็บไซต์ลามก เพียงแต่รอเวลาที่เจ้าของสิทธิที่แท้จริงต้องการใช้และมาติดต่อขอซื้อเอง ก็จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ.. ขอให้เปลี่ยนความตั้งใจใหม่เถอะครับ
วันนี้มีคนมากระซิบถามผม ว่าทำไมเขียนบทความเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคดีความฟ้องร้องเรื่องชื่อโดเมนออกมาตั้งหลายเรื่อง (จนแทบจะไม่มีใครกล้าจดชื่อโดเมนกันแล้ว) แต่ก็ยังคงมีคนมาถามอยู่เรื่อยๆ ว่าเว็บไซต์แห่งนี้รับจดชื่อที่ละเมิดสิทธิไหม? ลองย้อนกลับไปอ่านดูก็พบว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากคดีตัวอย่างที่นำมาลง ซึ่งแต่ละคดีค่อนข้างจะเห็นเจตนาในการทำความผิดอย่างชัดเจน ดังนั้นวันนี้จึงขอหยิบเอาคดีเก่าแก่อันดับต้นๆ ของชื่อ .com ที่จดโดยคนไทยมายกเป็นตัวอย่างให้ดูกันครับ
ชื่อ Jim Thompson คิดว่าคงมีคนไทยน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ยิ่งเป็นรุ่นคุณพ่อคุณแม่แล้วคงจะรู้จักดี (รวมถึงหลายคนที่กำลังติดตามดูผลงานทางจอทีวีด้วย) ซึ่งเมื่อได้ยินแล้วก็จะนึกไปถึง "ไหมไทย" ที่ฝรั่งคนนี้เข้ามาบุกเบิกทำจนมีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับสากล
เมื่อกลางปีที่แล้ว มีคดีหนึ่งที่ถูกฟ้องโดยมีชื่อโดเมน 2 ชื่อเป็นเดิมพัน หนึ่งคือ JIMTHOMPSONHOUSE.COM และอีกหนึ่งคือ JIMTHOMPSONHOUSE.ORG ทั้ง 2 ชื่อถูกจดโดยคนไทยในปี 2542 ซึ่งชื่อหลังถูกจดหลังจากชื่อแรกราว 4 เดือนในช่วงเดือนธันวาคมโดยคนๆ เดียวกัน
คดีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ The James H.W. Thompson Foundation ซึ่งเป็นโจทก์ ต้องการที่จะจดชื่อโดเมน JIMTHOMPSONHOUSE.COM ขึ้นมาใช้งาน แต่พบว่าชื่อดังกล่าวได้ถูกจดไปแล้ว จึงได้ติดต่อแจ้งเจ้าของชื่อให้ทราบถึงสิทธิในชื่อ "JIM THOMPSON" ซึ่งนอกจากโจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 แล้ว ยังใช้เครื่องหมายดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี โดยโจทก์ได้ขอให้จำเลยทำการยกเลิกชื่อโดเมนดังกล่าว แต่นอกจากจะไม่ได้รับคำตอบจากจำเลย ในเวลาต่อมาโจทก์ก็ยังพบด้วยว่าจำเลยได้ทำการจดชื่อ JIMTHOMPSONHOUSE.ORG เอาไว้ด้วย หลังจากได้พยายามติดต่อขอให้จำเลยยกเลิกชื่อโดเมนถึง 2 ครั้ง แต่ไม่เป็นผล จึงได้ยื่นฟ้องทวงสิทธิในชื่อดังกล่าวคืน
ในชั้นศาล จำเลยให้การว่าได้ดำเนินธุรกิจโรงแรมของตนมาเป็นเวลาถึง 12 ปีแล้ว และเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของ Jim Thomson ซึ่งเป็นชื่อของเพื่อนสนิทเก่าแก่ของมารดา โดยความเป็นจริงในข้อนี้ลูกค้าของตนทราบดี และชื่อโดเมนทั้ง 2 ชื่อดังกล่าว จำเลยมีความตั้งใจที่จะนำมาใช้เป็นชื่อของเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านบริการเกี่ยวกับที่พักขั้นดีต่างๆ เช่น เรื่องของเตียงนอน อาหารเช้า ภัตตาคาร และสิ่งบันเทิงต่างๆ ซึ่งเนื้อหาในเว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับไหมไทยหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของโจทก์แต่อย่างใด นอกจากนี้ก็ยังมีตราสินค้าที่ต่างกันด้วย โดยมีแผนจะเปิดตัวในวันที่ 1 มกราคม 2544
อย่างไรก็ดี จากการพิจารณาโดย WIPO ซึ่งทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ได้พิจารณาเห็นว่า
1.) แม้ว่าชื่อ "Jim Thompson House" จะไม่ตรงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดไว้ในชื่อ "JIM THOMPSON" แต่ชื่อดังกล่าวก็เป็นที่รู้จักดีในฐานะของชื่อทางการค้า ดังนั้นชื่อโดเมนทั้ง 2 ชื่อจึงถือว่าเข้าข่ายว่าเหมือนหรือคล้ายคลึงจนอาจก่อให้เกิดความสับสนกับชื่อที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิ
2.) เหตุผลที่จำเลยนำมาอ้างถึงสิทธิในชื่อ Jim Thomson ที่เป็นเพื่อนเก่าของมารดาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิทางกฎหมายของจำเลยได้
3.) แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยพยายามที่จะขายหรือทำกำไรจากชื่อโดเมนดังกล่าว แต่จากข้อเท็จจริงที่ในขณะที่จดชื่อโดเมน จำเลยทราบดีถึงการมีอยู่ของสิทธิในชื่อดังกล่าวของโจทก์ ซึ่งจากหลักฐานแวดล้อมต่างๆ นี้ จึงสามารถพิจารณาได้ว่าจำเลยจดชื่อโดเมนโดยมีเจตนามิชอบ
ดังนั้น จึงตัดสินให้จำเลยโอนชื่อโดเมนทั้ง 2 ชื่อคืนให้แก่โจทก์
ครับ.. ก็ขอจบลงสั้นๆ แต่เพียงเท่านี้ ในคดีนี้จะเห็นได้ว่าผู้เป็นจำเลยยังไม่เคยได้พยายามที่จะขายต่อหรือนำเอาชื่อโดเมนที่จดมาใช้งานเลย แต่เนื่องจากพยานแวดล้อมที่บ่งชัดว่าต้องการเอาข้อได้เปรียบจากชื่อเสียงของชื่อนี้มาใช้ จึงเป็นเหตุผลให้สามารถนำมาใช้บ่งชี้เจตนามิชอบ (Bad Faith) ในการจดและใช้ชื่อโดเมนนี้ได้ ซึ่งใน UDRP ก็เปิดโอกาสให้ทำการพิจารณาจากหลักฐานเวดล้อมในลักษณะนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยสรุปว่าจะจดชื่อโดเมนอย่างไรจึงปลอดภัย ก็ขอแนะนำดังนี้ครับ
1. ตรวจสอบชื่อที่ต้องการจดกับเครื่องหมายการค้าที่ถูกจดไว้แล้ว พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ชื่อที่อาจทำให้สับสนหรือเข้าใจผิด โดยเฉพาะชื่อที่เป็นชื่อเฉพาะที่เป็นการคิดขึ้นมาใหม่ เช่น PEPSI
2. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะต้องมั่นใจได้ว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะนำมาใช้แสดงสิทธิในการแสวงประโยชน์ทางกฎหมายจากชื่อนั้นๆ หากเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น เช่น เป็นชื่อตัว ชื่อบริษัท ชื่อทางการค้า หรืออื่นๆ
3. เจตนาเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มั่นใจว่าจะทำให้ลูกค้าที่เข้ามาชมเว็บไซต์รอดจากความเข้าใจผิดได้ ก็ขอให้ติดประกาศไว้ในเว็บไซต์ให้เป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้นอกจากจะต้องมั่นใจว่าจะไม่เผลอส่งจดหมายไปเสนอขายชื่อที่จดกับเจ้าของสิทธิหรือคนอื่นๆ และก็จะต้องมีเหตุผลในการจดและใช้งานชื่อดังกล่าวที่ฟังขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับชื่อที่คุณทราบดีอยู่แล้วว่าเมื่อคนทั่วไปได้ยินแล้วจะนึกกึงอะไรได้ทันทีก็จะต้องหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆ ท่านที่กำลังคิดจะจดชื่อที่เสี่ยงต่อการคุกคามสิทธิของผู้อื่น ได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้นนะครับ และขอให้ระลึกเสมอว่าการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันจะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น เว็บไซต์แห่งนี้ไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่มุ่งหวังที่จะช่วยให้คนไทยหลายๆ คนที่ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากกำแพงในเรื่องของภาษาและผลประโยชน์ทางธุรกิจ ได้รับบริการที่ดี มีชื่อโดเมนไว้ใช้งานในราคาที่สมเหตุสมผล และไม่สร้างความเดือดร้อนกับให้ผู้อื่นครับ
อย่าลืมนะครับ.. การเสี่ยงจดชื่อโดเมนบางชื่อ ไม่เพียงแต่จะทำให้ต้องเสียชื่อนั้นไปในที่สุดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง เวลา และทรัพย์สิน ที่ต้องจ่ายเป็นค่าคดีความอีกด้วยครับ
ขอขอบคุณ เพื่อนคนไทยในอเมริกาที่ช่วยจุดประเด็นคำถามนี้ขึ้นมา และขอบคุณ WIPO ที่ลงฎีกาฉบับนี้ (Case No. D2000-0436) ให้ได้ศึกษากันครับ
|
|
ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ |