Domain@tCost
15 September 2024  

HOME
 
eResolutions.. ความสงสัยที่ยังคงอยู่
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
7 ธันวาคม 2544

หลายคนที่รู้จัก eResolutions คงอดที่จะใจหายไม่ได้ กับข่าวการปิดตัวของส่วนบริการพิจารณาคดีผ่านอนุญาโตตุลาการแบบ Online (Online Dispute Resolution Provider) ของเว็บไซต์แห่งนี้ ซึ่งมีฐานะเป็น 1 ใน 4 ของเว็บไซต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจาก ICANN ให้เปิดให้บริการในลักษณะของอนุญาโตตุลาการ เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการจดและใช้งานชื่อโดเมนกลุ่ม .com .net .org และ .biz ตามแนวทาง UDRP (Uniform Domain-Name Dispute Resolution Policy) ซึ่งได้มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ 1 ธันวาคม 1999

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ eResolutions ต้องถอยลงจากเวทีนี้? คำถามนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะกับนักกฎหมาย นักวิชาการ หรือนักธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงของการจด ฟ้องร้อง และค้าชื่อโดเมนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภคซึ่งก็คือเจ้าของชื่อโดเมนอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายที่สักวันอาจต้องเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะจากการเป็นผู้ฟ้องหรือถูกฟ้องทวงสิทธิ์ในชื่อโดเมนที่ได้มีการจดไปแล้ว และหากจะว่ากันไปตามจริงแล้ว ความสนใจนี้ก็ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทจากแคนนาดาแห่งนี้ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะหยุดการรับคดีตั้งแต่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ได้มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า

"เพื่อที่จะได้สามารถทุ่มเทให้กับธุรกิจในส่วนของการพัฒนาซอฟท์แวร์ได้มากยิ่งขึ้น" นี่คือเหตุผลที่นำลงไว้ในหน้าข่าวของเว็บไซต์แห่งนี้ ถึงสาเหตุสำคัญที่ต้องปิดบริการในส่วนนี้ลงไป แต่ประเด็นสำคัญไม่น่าจะมาจากเหตุผลง่ายๆ เพียงแค่นี้ บางคนบอกว่า "เป็นเพราะ eResolutions เรียกเก็บค่าบริการสูงกว่าที่อื่น ขณะที่ระดับบริการกลับด้อยกว่าที่อื่น.." เหตุผลนี้ฟังดูน่าสนใจ เพราะราคาและคุณภาพบริการย่อมมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 7% แห่งนี้ ซึ่งหากเราลองพยายามหาความจริงกันดูก็อาจจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น

จากงานวิจัยของ Dr. Milton Mueller ในชื่อ "Rough Justice: An Analysis of ICANN's Uniform Dispute Resolution Policy" ที่ทำไว้เมื่อปลายปี 2000 ได้แสดงให้เห็นว่า eResolutions เรียกเก็บค่าบริการถูกที่สุด (นับจากผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดสุงที่สุด 3 รายคือ WIPO 61%, NAF 31% และ eResolutions 7% โดยไม่รวม CPR ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียง 1%) โดยค่าพิจารณาคดีชื่อโดเมน 1 ชื่อที่ใช้ลุกขุนเพียงคนเดียวจะอยู่ที่ 750 เหรียญ (WIPO 1,500, NAF 750) ส่วนคดีที่ใช้ลูกขุน 3 คนค่าบริการจะอยู่ที่ 2,200 เหรียญ (WIPO 3,000, NAF 2,250) ดังนั้นหากพิจารณาในเรื่องราคาแล้ว ก็ต้องถือว่า eResolutions มีระดับอัตราราคาที่จูงใจที่สุด ทีนี้ลองมาดูในส่วนของระดับบริการกันดูบ้าง..

จากข้อมูลงานวิจัยชิ้นเดียวกัน มีส่วนเกี่ยวข้องที่น่าจะสามารถสะท้อนภาพในเรื่องของบริการอยู่ 2 ส่วนคือ
1. ระยะเวลาในการพิจารณาคดี
2. ผลการพิจารณาคดี

ในส่วนของระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาคดีนั้น พบว่า 80% ของคดีที่ตัดสินโดย eResolutions จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 40 วัน โดยมีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้เวลาต่ำกว่านั้น ในขณะที่ NAF ใช้เวลาน้อยกว่า 40 วันสำหรับคดีส่วนใหญ่ (70%) ส่วนของ WIPO นั้น ระยะเวลาที่ใช้จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างกระจายตัวเท่าๆ กัน ดังนั้นในจุดนี้ เราอาจตีความได้ 2 อย่างว่า การใช้เวลาในการพิจารณาคดีที่มากกว่าของ eResolutions หมายถึงการขาดประสิทธิภาพ หรือ.. อาจตีความหมายได้ในอีกแง่หนึ่งว่า eResolutions ได้ใช้เวลาที่มีอยู่ในการรวบรวมและพิจารณาหลักฐาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้มีโอกาสหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น ซึ่งระยะเวลา 40 วันนี้ เมื่อเทียบกับการพิจารณาคดีผ่านทางระบบปกติแล้ว ก็ต้องถือว่าสั้นกว่ามาก

สำหรับความแตกต่างในเรื่องของผลการพิจารณาคดี จากจำนวน 621 คดีที่ได้รับการพิจารณาจากอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 รายในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 1999 จนถึงเดือนมิถุนายน 2000 นั้น ค่อนข้างปรากฏชัดเจนว่า WIPO และ NAF มีแนวโน้มที่จะตัดสินคดีในทางเอื้อประโยชน์ต่อผู้ฟ้องร้องมากกว่า eResolutions โดยหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะพูดได้ว่า โอกาสที่ผู้ฟ้องร้องคดีชื่อโดเมนที่ใช้บริการของ WIPO และ NAF จะชนะคดีมีสูงถึง 82% และ 81% ตามลำดับ ในขณะที่โอกาสที่จะชนะเมื่อฟ้องผ่าน eResolutions มีเพียง 51% เท่านั้น

อะไรคือมาตรฐานที่ใช้ชี้วัดระดับคุณภาพบริการของอนุญาโตตุลาการ? ในเมื่อผู้ใช้บริการคือผู้ที่ต้องการฟ้องร้องเอาชื่อโดเมนจากบุคคลหรือองค์กรใดๆ ที่ได้ทำการจดและใช้งานมาก่อน แน่นอนว่า.. อนุญาโตตุลาการที่สามารถตัดสินให้ผู้ฟ้องร้องชนะคดีได้ในเวลาที่สั้นที่สุดย่อมถือว่าสามารถให้บริการได้ดีที่สุดในสายตาผู้ใช้บริการ และก็แน่นอนว่าด้วยจำนวนเงินก้อนที่จ่ายออกไป แม้ว่าจะมีระดับอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า แต่หากไม่สามารถตัดสินให้ชนะคดีได้ เหตุผลที่ว่า "เป็นเพราะ eResolutions เรียกเก็บค่าบริการสูงกว่าที่อื่น ขณะที่ระดับบริการกลับด้อยกว่าที่อื่น.." นั้นก็สะท้อนความเป็นจริงนี้ออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงจุดที่สุด

เรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร? หลายคนอาจเห็นด้วยที่ว่าควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องร้องมีสิทธิ์ที่จะชนะคดีและได้เป็นผู้ครอบครองชื่อโดเมนมากกว่า อย่างสถิติที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือประมาณ 80 ต่อ 20 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่จะเป็นไปหลังจากตัดส่วนแบ่งของ eResolutions ออกจากตลาดไปแล้ว เพราะชื่อโดเมนจำนวนมากถูกจดไปโดยเหล่า cybersquatter ซึ่งไม่ได้มีการทำมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียทางทรัพยากรหากจะพิจารณากันในเชิงของเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ดี เราไม่ควรจะละเลยถึงผลกระทบอีกส่วนหนึ่งซึ่งได้เกิดขึ้นตามมาในสังคมทุนนิยมแห่งนี้.. เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Reverse Domain Name Hijacking ซึ่งหมายถึงการฟ้องร้องอ้างสิทธิ์เอาชื่อโดเมนที่ได้มีการจดไว้ก่อนมาเป็นของตน โดยอาศัยหลักฐานในการมีตัวตนของบริษัทหรือการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามกฎหมาย (ซึ่งส่วนใหญ่มีการยื่นขอจดทีหลัง) มาใช้อ้างสิทธิ์ในการเข้าครอบครองและใช้งานชื่อโดเมนดังกล่าว ซึ่งในระยะหลังมีชื่อโดเมนหลายชื่อที่ถูกตัดสินให้ย้ายไปในลักษณะนี้หลายคดี เช่น barcelona.com, videonet.com, magic.com, dogs.com, jewelry.com ฯลฯ และที่จะมีตามมาอีกมากหากบรรทัดฐานและมาตรฐานการพิจารณาคดียังคงเป็นไปในแนวทาง "เพื่อบรรลุความพอใจของลูกค้าสูงสุด" บางทีคำว่าทรัพย์สินทางปัญญาและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพก็กลับมีค่าน้อยกว่าทรัพย์สิน (เฉยๆ) และบางครั้งโลก cyberspace ก็สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันออกมาได้อย่างคาดไม่ถึง ก็ในเมื่อ UDRP นั้นถูกร่างขึ้นมาอย่างดีเพื่อใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ตัวบุคคลที่มีหน้าที่นำมาใช้ต่างหากที่กลายเป็นปัญหา โดยหยิบยกเพียงประเด็นที่ต้องการใช้มาพิจารณาเท่านั้น

สุดท้ายนี้ สำหรับท่านที่ต้องการฟ้องร้องเรียกคืนสิทธิ์ในการใช้งานหรือระงับการใช้งานชื่อโดเมนที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับชื่อทางการค้า ผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า หรืออื่นๆ ที่ท่านคิดว่าท่านน่าจะมีสิทธิ์ ผมก็มีเคล็ดลับจะแนะนำดังนี้ครับ

1. เลือกอนุญาโตตุลาการที่มีสถิติให้ผู้ฟ้องร้องชนะคดีมากๆ (อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 80:20)
2. เลือกลูกขุนที่มีสถิติให้โจทก์ชนะคดีมากๆ - จากผลการวิจัยของ Michael Geist พบว่า % ในการให้ผู้ฟ้องร้องชนะคดีของลูกขุนแต่ละคน มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้า (คดี) ที่ลูกขุนเหล่านั้นจะหาได้ในแต่ละปี (ความจริงก็คือ ไม่มีลูกขุนคนไหนมีคดีให้ตัดสินมาก หากว่ามีสถิติการพิจารณาคดีให้ผู้ฟ้องร้องต้องแพ้บ่อยๆ)
3. เลือกจำนวนลูกขุนแค่คนเดียวเท่านั้น - จากผลการวิจัยพบว่า โอกาสที่ผู้ฟ้องร้องจะชนะคดีจะลดลงถึง 20% หากตัดสินใจฟ้องร้องโดยใช้ลูกขุน 3 คน แทนที่จะเป็น 1 คน (หมายเหตุ - สถิตินี้จะเป็นจริงเมื่อตัด eResolutions ที่มีส่วนต่างนี้ไม่ถึง 10% ออกไปแล้ว)


ขอร่วมไว้อาลัยแด่บริการของ eResolutions และขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Milton Mueller, "Rough Justice: An Analysis of ICANN's Uniform Dispute Resolution Policy", (November 2000)
Michael Geist, "Fair.com?: An Examination of the Allegations of Systemic Unfairness in the ICANN UDRP", (August 2001)

ทิ้งท้าย:
จากการที่ eResolutions ได้ออกจากธุรกิจนี้ไป ได้ส่งผลให้อนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ทั้งหมดเหลืออยู่แต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (จากสถิติกว่า 70% ของคดีฟ้องร้องถูกยื่นฟ้องโดยผู้ฟ้องร้องที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอเมริกา) ดังนั้นเพื่อให้บริการนี้สามารถเข้าถึง "ความเท่าเทียมและทั่วถึง" มากยิ่งขึ้นสำหรับชาวโลกอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2001 ที่ผ่านมา ICANN จึงได้ประกาศรับรอง The Asian Domain Name Dispute Resolution Centre (ADNDRC) ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการ online รายใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Hong Kong International Arbitration Centre (HKIAC) และ China International Economic and Trade Arbitration Commission (CIETAC) เพื่อให้เป็นที่พึ่งสำหรับคนเอเชีย (รวมถึงคนไทย) ที่อาจมีปัญหาที่จะต้องฟ้องร้องกัน ให้สามารถหาข้อยุติได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งนี้ ADNDRC มีแผนที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป..


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ