Domain@tCost
24 April 2024  

HOME
 
กรณีศึกษา..จดหมายจาก .au ถึง .th
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
26 ธันวาคม 2544

ผมเริ่มสนใจติดตามข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับชื่อโดเมน ccTLD* มาตั้งแต่ได้ข่าวเรื่องการพิจารณาถ่ายโอนความรับผิดชอบ (redelegation) ในการดูแลชื่อโดเมน .au ของประเทศออสเตรเลีย จากที่เคยอยู่ในมือของคนที่เป็นผู้บุกเบิกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในออสเตรเลียซึ่งรับผิดชอบดูแลชื่อโดเมนในกลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้น ไปสู่การดูแลจัดการภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่ไม่แสวงกำไร ประเด็นเรื่องนี้น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากจะว่าไปแล้วประเทศออสเตรเลียกับประเทศไทยนั้นมีความผูกพันกันมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอินเทอร์เน็ต ซึ่งรากฐานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในยุคแรกนั้นก็ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลออสเตรเลียทั้งในด้านของเงินทุน อุปกรณ์ เทคโนโลยี และบุคลากรทางด้านวิชาการผ่านทางสถาบันการศึกษาหลายแห่งของเราที่ร่วมพัฒนาเครือข่ายกันมาตั้งแต่ยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น AIT, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังนั้นลักษณะโครงสร้างของเครือข่ายและบริการต่างๆ ของเราจึงมีความคล้ายคลึงกับทางออสเตรเลียอยู่มากจนอดที่จะคิดไม่ได้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลชื่อโดเมน .au ของออสเตรเลียในครั้งนี้ จะส่งผลมาถึงโครงสร้างการดำเนินงานของหน่วยงานบริหารดูแลชื่อโดเมน .th ของประเทศไทยในที่สุด

เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจเหตุการณ์และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ โดยไม่ต้องใช้เวลากับการติดตามค้นข้อมูลจากเว็บไซต์หรือห้องข่าวใดๆ อีก ผมจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลเท่าที่จำเป็นจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและห้องข่าวต่างๆ ที่นำเสนอข่าวนี้มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1999 จนถึงปัจจุบันมาสรุปไว้ที่นี่ ซึ่งก็หวังว่าหลังจากท่านได้อ่านข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็คงจะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ และพูดคุยกันต่อได้ในเรื่องเดียวกัน

ชื่อโดเมน .au ของประเทศออสเตรเลียนั้น ได้รับการจัดสรรใช้งานมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี ค.ศ.1986 ซึ่งถือเป็นชื่อโดเมนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการจัดสรรโดย Information Sciences Institute แห่ง University of Southern California (USC)** โดยได้มีการมอบหมายให้นาย Robert Elz ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็น Network Programmer อยู่ที่มหาวิทยาลัย Melbourne และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบดูแลเครือข่าย ACSnet (Australian Computer Science Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายเริ่มแรกของประเทศออสเตรเลียที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1970 เป็นผู้ดูแลบริหารชื่อโดเมนกลุ่มนี้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นาย Robert Elz จึงได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการชื่อโดเมน .au ในฐานะของอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานให้โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่แล้วการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในออสเตรเลียในช่วงต่อมา ก็ได้ส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานชื่อโดเมน .au เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้ต้องมีการจัดแบ่งหมวดหมู่ย่อยของ .au TLD ออกเป็น SLD ถึง 11 ประเภท ซึ่งได้แก่ asn.au, com.au, conf.au, csiro.au, edu.au, gov.au, id.au, info.au, net.au, org.au และ oz.au โดย 8 ประเภทแรกนั้นได้เปิดให้สาธารณะชนทั่วไปสามารถจดและใช้งานได้ ส่วน 3 ประเภทหลังได้สงวนไว้ใช้สำหรับผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ลักษณะวัตถุประสงค์การใช้งานโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นตามมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น com.au สำหรับกลุ่มธุรกิจหรือการค้าที่แสวงกำไร, edu.au สำหรับสถาบันการศึกษา, org.au สำหรับองค์กรไม่แสวงกำไร, id.au สำหรับบุคคลทั่วไป (individual) ฯลฯ

ต่อมาในปี 1996 มหาวิทยาลัย Melbourne ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็น Registrar เพื่อช่วยดูแลให้บริการชื่อโดเมนในกลุ่ม com.au ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมากเกินกว่าที่นาย Robert Elz จะสามารถดูแลต่อไปได้โดยลำพัง โดยงานในส่วนนี้ต่อมาก็ได้แตกออกมาเป็นบริษัท Melbourne IT Ltd. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการในส่วนนี้โดยตรง และจากการเติบโตของเครือข่ายและจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของออสเตรเลียในช่วงนี้เอง ที่ได้เกิดกระแสความคิดในการผลักดันให้มีการถ่ายโอนภาระความรับผิดชอบชื่อโดเมน .au ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนาย Robert Elz แต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอดไปสู่การจัดตั้งองค์กรอิสระที่ไม่แสวงกำไรขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยมีความพยายามในการตั้ง ADNA (Australian Domain Name Administration) ขึ้นในปี 1997 เพื่อหวังจะให้เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลชื่อโดเมนกลุ่ม .au แต่เนื่องจากถูกมองว่าขาดศักยภาพในการบริหารจัดการและขาดผู้สนับสนุนอย่างเพียงพอจึงทำให้โครงการดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ

ในที่สุดจนมาถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1999 ชื่อโดเมนกลุ่ม .com.au ซึ่งมีจำนวนถึง 85% ของชื่อโดเมนในกลุ่ม .au ทั้งหมด ก็ได้รับการถ่ายโอนความรับผิดชอบไปสู่ auDA (.au Domain Administration) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียผ่านทาง NOIE (National Office for the Information Economy) โดยประกอบด้วยผู้ถือหุ้นทั้งในส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและองค์กรธุรกิจต่างๆ ในออสเตรเลีย

ถัดจากนั้นมาอีก 1 ปีในเดือนตุลาคม ค.ศ.2000 auDA ก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง NOIE เพื่อขอเป็นผู้ดูแล .au TLD ทั้งหมด โดยประกาศเป้าหมายความรับผิดชอบที่น่าสนใจในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น การดำเนินงานในลักษณะองค์กรไม่แสดงกำไรที่สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องขอรับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐ, การพัฒนาให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค, การวางระบบการระงับข้อพิพาทอันสืบเนื่องจากการจดและใช้งานชื่อโดเมนภายใต้ .au อย่างเป็นรูปธรรม, การเป็นหน่วยงานแห่งชาติในการดูแลชื่อโดเมนทั้งหมดของออสเตรเลีย และอื่นๆ ซึ่งแม้ว่าจะยังคงมีปัญหาในเรื่องของชื่อโดเมนในกลุ่ม SLD อื่นๆ ที่ยังคงอยู่ในการดูแลของนาย Robert Elz แต่ในที่สุดในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน รัฐบาลออสเตรเลียก็ได้อนุมัติมอบอำนาจให้ auDA เป็นผู้ดูแลชื่อโดเมนกลุ่ม .au แต่เพียงผู้เดียว

และในเดือนพฤษภาคมปีถัดมา auDA ก็ได้ทำเรื่องร้องขออย่างเป็นทางการส่งไปยัง IANA ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดสรรอำนาจในการดูแลชื่อโดเมน เพื่อให้อนุมัติการถ่ายโอนอำนาจในการดูแลชื่อโดเมนในกลุ่ม .au ทั้งหมดมาจากนาย Robert Elz และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน นาย Chris Disspain ซึ่งเป็น CEO ของ auDA ก็ได้ทำเรื่องยื่นต่อ ICANN เพื่อให้พิจารณาอนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย (โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก Richard Alston จากจดหมายรับรองที่ส่งถึงนาย Stuart Lync CEO ของ ICANN โดยยืนยันว่าเป็นตามความต้องการของรัฐบาลออสเตรเลีย) และหลังจาก IANA ผ่านความเห็นชอบในเดือนสิงหาคม ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.2001 ICANN ก็ได้บรรลุข้อตกลงในการให้ auDA เป็นผู้รับผิดชอบดูแลชื่อโดเมน ccTLD กลุ่ม .au แต่เพียงผู้เดียว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความเป็นมาที่เกิดขึ้นกับชื่อโดเมน .au แม้ว่าจนถึงปัจจุบันนาย Robert Elz จะยังคงยืนยันที่จะรักษาหน้าที่ในการดูแลชื่อโดเมนเฉพาะในส่วนของ SLD 2 ประเภท คือ org.au และ id.au ไว้ตามเดิม แต่ท้ายที่สุดก็คงยากที่จะฝืนมติของ ICANN ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสูงสุดในการดูแลมาตรฐานและการจัดการอินเทอร์เน็ตโลกไปได้ อย่างไรก็ตามผมยังเห็นว่ามีจุดน่าสนใจอยู่ 2-3 ประการดังต่อไปนี้

1. หากพิจารณาในแง่ของข้อตกลงแล้ว การอนุมัติสิทธิ์ในการดูแลรับผิดชอบชื่อโดเมน .au นั้น IANA เป็นผู้ให้สิทธิ์แก่นาย Robert Elz ในขณะที่ข้อตกลงของ auDA ได้ทำไว้กับ ICANN ไม่ใช่นาย Robert Elz ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้หากพิจารณาจาก RFC-1591 ที่มีการระบุข้อกำหนดในการแต่งตั้งตัวแทนรับผิดชอบดูแลชื่อโดเมนซึ่งออกโดย IANA ในปี 1994 ก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "การถ่ายโอนสิทธิ์ของผู้ดูแลชื่อโดเมนในแต่ละกลุ่มจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบทั้งจากผู้ดูแลเดิมและผู้ดูแลใหม่เท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นแต่เพียงว่าเฉพาะในกรณีที่ผู้ดูแลเดิมได้มีการนำชื่อโดเมนไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่สามารถดูแลชื่อโดเมนให้ทำงานได้อย่างถูกต้องเท่านั้น" และหากพิจารณาจาก ICP-1 ที่เป็นนโยบายในเรื่องเดียวกันที่ออกโดย ICANN ในปี 1999 ก็จะพบว่ามีการระบุว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ใน RFC-1591 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการพิจารณาในส่วนของ sub-domain ก็จะต้องใช้หลักการเดียวกัน ส่วนใน ICP-1 นั้นระบุเพียงว่าในส่วนนี้ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ใน RFC-1591 นั่นก็หมายความว่า หากพิจารณาตามนโยบายที่ระบุไว้ใน RFC-1591 และ ICP-1 แล้ว การที่ auDA จะสามารถเข้ามาเป็นผู้ดูแลจัดการชื่อโดเมนกลุ่ม org.au และ id.au ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนาย Robert Elz ก่อนเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับอนุมัติจาก ICANN ให้ดูแล .au TLD แล้วก็ตาม

2. หากพิจารณาในแง่ของทรัพย์สินทางปัญหา auDA ก็ไม่น่าจะมีสิทธิ์ที่จะเปิด SLD ใหม่ของตัวเองภายใต้ชื่อ org.au และ id.au เช่นกัน (หากต้องการเลี่ยง) เนื่องจาก SLD ทั้ง 2 ประเภทนี้ นาย Robert Elz เป็นผู้คิดขึ้นและเป็นผู้ประกาศใช้ นอกจากนี้ในปัจจุบันก็มีผู้ใช้ชื่อโดเมน SLD ทั้ง 2 กลุ่มนี้อยู่แล้วด้วย

3. ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ auDA ได้ทำเป็นอันดับแรกหลังจากได้รับการอนุมัติจาก ICANN ให้เข้ามาดูแลชื่อโดเมน .au TLD ก็คือการหารายได้เข้ามาสนับสนุนหน่วยงานให้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐ โดยการประกาศเปิดประมูลชื่อโดเมนประเภท com.au ที่มีลักษณะเป็นคำสามัญ เช่น shopping.com.au, sport.com.au ซึ่งได้ถูกสงวนไว้ไม่ให้ทำการจดมาตั้งแต่สมัยที่นาย Robert Elz เป็นผู้ดูแลอยู่ (เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความได้เปรียบในการใช้งาน เพราะสุดท้ายชื่อดีๆ ก็จะตกเป็นของบริษัทใหญ่ๆ) ในขณะที่ auDA เห็นว่าการสงวนชื่อไว้เท่ากับเป็นการสูญเสียทรัพยากร ถ้าสุดท้ายบริษัทใหญ่ๆ จะได้ชื่อโดเมนดีๆ ไป รายได้ในส่วนนี้ก็น่าจะถูกนำมาใช้ในการลดค่าบริการของชื่อโดเมนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยในจุดนี้หากมองในเรื่องของความจริงใจในการรักษาประโยชน์ให้กับสังคมก็เป็นเรื่องที่น่านำมาคิด

สรุปแล้วก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายเรื่อง .au นี้จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับออสเตรเลียในวันนี้ก็ทำให้นึกไปถึงปัญหาที่เคยเกิดกับ .th ในช่วงหลายปีก่อนที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มบูมในบ้านเรา ซึ่งก็มีหลายๆ หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่เสนอตัวเข้ามาดูแลชื่อโดเมนกลุ่ม .th แทน THNIC (บางรายถึงกระทั่งทำจดหมายถึง ICANN ขอให้อนุมัติโอนสิทธิ์ให้) ด้วยเห็นว่า THNIC นั้นขาดความพร้อมทั้งในด้านของพนักงานที่จะเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา รวมถึงการจัดการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด นอกจากนี้ก็ยังมีแรงกดดันจากกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกด้วย แต่ก็ยังโชคดีว่าขนาดของผลประโยชน์ของ .th ในวันนั้นยังไม่มากเท่ากับ .au ของออสเตรเลียในวันนี้ THNIC จึงได้ผ่านวิกฤติการณ์ในช่วงนั้นมาได้ ซึ่งจนถึงวันนี้หากแวะเวียนไปดูก็จะเห็นระบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น รวมทั้งกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ที่มีการผ่อนปรนลงไปมาก อย่างไรก็ตามจุดยืนในการให้บริการและผลประโยชน์ของชาตินั้นก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องนำมาคิดให้มากที่สุด เมื่อถึงวันหนึ่งที่ประเทศต้องเปิดเสรีตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับ WTO ชื่อโดเมน .th ที่เป็นของประเทศไทยก็คงจะกลายเป็นของร้อนที่ต้องถูกปัดฝุ่นขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง และคงจะเลี่ยงอิทธิพลทางการเมืองที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องไปได้ยาก ก็ขอเป็นกำลังใจให้ รศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ที่เป็นผู้บุกเบิกชื่อโดเมนของไทยมาตั้งแต่ต้น ให้สามารถพัฒนาบริการให้ถึงระดับที่ทุกฝ่ายพอใจก่อนจะถึงวันนั้น ด้วยไม่อาจรู้ว่าสุดท้าย .th ของประเทศไทยจะตกไปอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์, นักลงทุนเอกชน, ต่างชาติ หรืออื่นๆ ไป โดยเหลือไว้แต่เพียง org.th และ in.th ให้นักวิชาการที่เป็นผู้บุกเบิกและลงแรงกับชื่อโดเมนนี้มาตั้งแต่ต้น ต้องไปต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเป็นผู้ดูแลชื่อโดเมน SLD เพียง 2 ประเภทเช่นเดียวกับนาย Robert Elz ในวันนี้



*ccTLD (country code Top Level Domain name) คือ กลุ่มของชื่อโดเมนที่จัดสรรให้กับประเทศต่างๆ ไว้ใช้งาน โดยแบ่งตามมาตรฐาน ISO-3166-1 (ใช้อักษรย่อ 2 ตัวอักษร) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 243 ประเทศ เช่น .th (Thailand) สำหรับประเทศไทย .jp (Japan) สำหรับประเทศญี่ปุ่น .au (Australia) สำหรับประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ชื่อโดเมนในกลุ่มดังกล่าวได้เริ่มมีการจัดสรรใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเริ่มแรกนั้น ผู้บุกเบิกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศต่างๆ มักจะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่อุทิศตนเข้ามาทำงานเพื่องานด้านวิชาการ ดังนั้นสำหรับชื่อโดเมน ccTLD ของประเทศที่มีการจัดสรรชื่อโดเมนนี้มาใช้เป็นประเทศแรกๆ จึงมักยังอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอิสระ เช่น ในกรณีของประเทศไทยที่ชื่อโดเมนกลุ่ม .th ยังคงอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ THNIC มาจนถึงปัจจุบัน

**ชื่อโดเมนนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้นใช้งานเป็นครั้งแรกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในงานทางด้านวิชาการ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นการใช้งานชื่อโดเมนจึงยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มของนักวิชาการในประเทศต่างๆ ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อพัฒนาเครือข่ายในลักษณะของอาสาสมัคร โดยชื่อโดเมนจะถูกนำมาใช้อ้างอิงเข้ากับ email ของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อใช้ในการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมหาวิทยาลัย USC ภายใต้การนำของ Dr.Jon Postel ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำผู้พัฒนาเครือข่าย ARPANET ในขณะนั้น ก็มีบทบาทอย่างมากในการรับผิดชอบดูแลการจัดสรรชื่อโดเมนในช่วงเวลาดังกล่าว จนต่อมาเมื่อเครือข่ายขยายตัวขึ้น จึงได้มีการตั้ง IANA (The Internet Assigned Numbers Authority) ขึ้นมาดูแลงานในด้านนี้โดยตรง (โดยทีมงานส่วนใหญ่ก็จะยังเป็นทีมงานชุดเดิมจาก USC) และในที่สุดก็ได้มีการตั้ง ICANN (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานอิสระทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
ICANN, ".au ccTLD Sponsorship Agreement", (25 October 2001)
ICANN, "ICANN Montevideo Meeting Topic: Approval of ccTLD Sponsorship Agreement with auDA (.au)", (4 September 2001)
IANA, "IANA Report on Request for Redelegation of the .au Top-Level Domain", (31 August 2001)
IANA, "Second IANA Report on Request for Redelegation of the .au Top-Level Domain", (19 November 2001)
.au Domain Administration (auDA)
Stuff Marketplace, "Auction of Generic com.au Domain Names"
Micheal Froomkin, ICANNWATCH, ".au to Auction Generic Domain Names", (20 December 2001)
Micheal Froomkin, ICANNWATCH, "auDA Moves to Unilaterally Redelegate Subdomains", (28 November 2001)
Kate Mackenzie, Australian IT, "Domains move inappropriate: Elz", (13 November 2001)


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ