Domain@tCost
19 April 2024  

HOME
 
usTLD โดเมนแห่งชาติอเมริกันชน
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
15 กุมภาพันธ์ 2545

ภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ชาวอเมริกันทั้งหลายจะมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศการแย่งกันจดทะเบียนชื่อโดเมน .us หรือ usTLD (ซึ่งถูกนำมาใช้เรียกเป็นพิเศษแทนคำว่า ccTLD) กันอย่างถ้วนหน้า..

มีประเด็นอะไรใหม่หรือ? ในเมื่อชื่อโดเมน .us นี้ถือเป็น ccTLD ชื่อแรกด้วยซ้ำที่เกิดขึ้นบนโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 ซึ่งคนอเมริกันก็จด .us กันมาตั้งแต่นั้น จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถบอกตัวเลขได้แน่นอนว่าชื่อโดเมนภายใต้ .us มีอยู่เป็นจำนวนมากน้อยเท่าไร แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก (หากเทียบกับ .uk ของอังกฤษที่เปิดใช้งานมาพร้อมๆ กัน แต่ปัจจุบันคนอังกฤษจดกันไปแล้วกว่า 3 ล้านชื่อ) โดยเฉพาะปัญหาการจัดแบ่งโครงสร้างการใช้งานของชื่อโดเมน .us ที่แบ่งออกเป็นซับโดเมนย่อยๆ แบบละเอียดยิบ จนไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ชาวอเมริกันจดมาใช้งานได้ ไม่อย่างนั้นเราคงต้องได้รู้จักเว็บไซต์ coca-cola.atlanta.ga.us กันแล้ว แทนที่จะเป็น coca-cola.com อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่เดิมนั้น .us (ภายใต้การดำเนินงานผ่านทางเว็บไซต์ www.nic.us) ได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSF) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 โดยโครงสร้างการใช้งานนั้นมีการจัดแบ่งที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก โดยใช้การแบ่งตามเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก และแยกย่อยลงไปอีกในระดับซับโดเมนที่สาม สี่ ห้า ตามลักษณะหน่วยงานบริการที่จำแนกไว้ เช่น หน่วยงานเทศบาล โรงเรียน วิทยาลัย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และอื่นๆ ซึ่งมีการจัดเป็นรูปแบบต่างๆ มากถึง 15 ประเภท (ส่วนใหญ่ยึดตามหลักการเดิมใน RFC 1480) จาก 58 เขตพื้นที่ใน 50 รัฐ ซึ่งการจดทะเบียนและการให้บริการจะเป็นในรูปแบบการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง โดยอาศัยหน่วยงานท้องถิ่น (Locality Delegee) ที่มีอยู่กว่า 6,500 แห่งทั่วประเทศเป็นผู้ดูแลให้บริการซับโดเมนแต่ละกลุ่ม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวนโยบายเดิมนั้น คงจะมีเพียงหน่วยงานที่จำเป็นต้องเข้าระบบเท่านั้นที่อยากเลือกใช้ชื่อเว็บไซต์ภายใต้ .us เพราะชื่อที่ได้นั้นจะมีความยาวหรือกลุ่มของคำค่อนข้างมากจนเกินพอดี ทั้งนี้เนื่องมาจากสหรัฐฯ มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรและหน่วยงานต่างๆ มากมาย ดังนั้นถ้าจะระบุให้ครอบคลุมก็จำต้องมีความซับซ้อน อาจยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ เช่น เว็บไซต์ของเมืองชิคาโกที่ปัจจุบันใช้ชื่อโดเมนเป็น ci.chi.il.us (หากลองออกเสียงดูก็จะรู้ถึงความยากลำบาก และมีโอกาสมากทีเดียวที่จะพูดผิด ฟังผิด จำผิด หรือพิมพ์ผิดกันได้ง่ายๆ) แต่ถ้าเทียบกับ chicago.us แล้ว.. ใช่แล้วครับ! นี่อาจเป็นสิ่งที่อเมริกันชนรอคอย แต่เหตุผลในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นจะเป็นอีกแบบหนึ่ง.. ชื่ออย่างนี้ขายได้ ทำไมไม่เปลี่ยนจากชื่อที่เราต้องเอาเงินไปใส่ทุกปี มาเป็นชื่อที่ส่งเงินกลับมาให้เรา? ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสหรัฐฯ เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งที่ผ่องถ่ายความรับผิดชอบในการดูแลชื่อโดเมนจาก IANA (ที่ต้องใช้ทุนสนับสนุนจาก NSF) มาไว้ที่ ICANN (ในฐานะองค์กรของชาวโลก ดังนั้นทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมกันสนับสนุน) ซึ่งจนมาถึงวันนี้ ICANN ก็ยังยืนหยัดและสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างสบายๆ (แม้ว่าจะตั้งขึ้นมาในฐานะองค์กรไม่แสวงกำไร และปัจจุบันยังคงยึดนโยบายนี้อยู่) ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็ยังถือสิทธิ์ในการชี้ขาดนโยบายของ ICANN ผ่านทางกระทรวงพาณิชย์ (DoC) ได้เหมือนเดิม ดังนั้นนี่จึงเป็นที่มาของการเปิดให้พลเมืองคนอเมริกัน (รวมถึงพวกที่เข้ามาพำนักพักอาศัยเป็นการถาวร) ตลอดจนองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่เปิดดำเนินการในสหรัฐฯ สามารถจดชื่อโดเมนภายใต้ .us โดยตรงในระดับ SLD ได้ (หมายถึงสามารถจดเป็น coca-cola.us ได้ โดยไม่ต้องไปอ้างผ่านชื่อรัฐ ชื่อเมือง หรืออื่นๆ ก่อนอีกต่อไป) และชื่อ .us ก็จะมีโอกาสแข่งขันกับชื่อ gTLD อื่นๆ ที่ได้รับความนิยมมากกว่าได้ นอกจากนี้หาก .us บูมขึ้นมา ก็จะเป็นการสร้างความเป็นอเมริกันให้กลับแข็งแกร่งขึ้นมาได้ในเวลาที่ชาติต้องการอีกด้วย

ในโอกาสเปิด usTLD ในครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ไว้ใจมอบหมายให้ NeuStar Inc.* เข้ามาเป็น registry โดยถึงวันนี้มีผู้ให้บริการสนใจเข้าร่วมเป็น registrar ของ usTLD แล้วมากถึง 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น gTLD registrar ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว เช่น Tucows Inc, Register.com ฯลฯ ในขณะที่ผู้ครองตลาดชื่อโดเมนรายใหญ่ที่สุดอย่าง VeriSign Inc นั้นยังคงนิ่งดูท่าทีอยู่ สำหรับอัตราค่าบริการในการจดทะเบียนนั้นยังไม่มีการกำหนดตายตัว โดยจะขึ้นกับ usTLD-accredited registrar แต่ละราย แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า $15 ต่อชื่อต่อปี เนื่องจากคนอเมริกันถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถือครองชื่อโดเมน gTLD กว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดที่อยู่ทั่วโลก ดังนั้น usTLD จึงน่าที่จะได้รับการตอบรับจากชาวอเมริกันในระดับที่สูงตามไปด้วย

สำหรับแผนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ เริ่มต้นจากช่วง Sunrise (4 มีนาคม - 9 เมษายน) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เจ้าของสิทธิบัตรและเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่จดทะเบียนไว้ในสหรัฐฯ ได้มีโอกาสยื่นหลักฐานขอลงทะเบียนจองชื่อไว้ก่อน โดยหากชื่อโดเมนที่ผ่านการตรวจสอบหลักฐานชื่อใดมีผู้ยื่นจองเข้ามามากกว่า 1 ราย ก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสุ่มในขั้นที่สอง (Random Selection Process, 10-23 เมษายน) ซึ่งเป็นการตีกรอบให้ชื่อโดเมนแต่ละชื่อสามารถมีเจ้าของได้เพียงรายเดียวเท่านั้น โดยชื่อโดเมนที่สามารถผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้มาได้ก็จะถูกจดทะเบียนไว้กับ NeuStar ทันที สำหรับขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นการเปิดให้บุคคลและองค์กรทั่วไปที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ในช่วง Sunrise สามารถจดทะเบียนใช้งานแบบมาก่อน-ได้ก่อนนั้น ตามกำหนดการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2545 เป็นต้นไป

ทั้งนี้หลังจากที่ NeuStar เข้ามาดูแลในฐานะ registry ของชื่อโดเมน .us ทั้งกลุ่ม ชื่อโดเมนกลุ่มเดิมที่มีการจัดสรรไว้แล้วก็จะยังคงใช้ได้ตามปกติ โดยอยู่ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของ Locality Delegee ในแต่ละเขตพื้นที่ต่อไป เพียงแต่จะมีการเชื่อมระบบงานบางส่วนในระดับของ Locality Delegee เข้ากับระบบบริการ .us ของ Neustar ซึ่งจะส่งผลให้ระบบรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงขึ้นด้วย

การปรับนโยบายของสหรัฐฯ ในวันที่กระแส ccTLD กำลังแรงนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวของ country code domain ที่หลายประเทศกำลังตื่นตัวกันอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่านโยบายการเปิดตัว usTLD ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะไม่ดุเดือดเผ็ดมันถึงขั้นเอาชื่อโดเมนออกมาประมูลขายเหมือนอย่าง .au ของออสเตรเลียที่เป็นผลมาจากการ re-delegation ผู้รับผิดชอบชื่อโดเมน แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะรูปแบบโครงสร้างการจัดการชื่อโดเมนของสหรัฐฯ นั้นถือเป็นต้นแบบที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งหลายประเทศได้นำเอาไปประยุกต์ใช้กับ ccTLD ของตน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนชาวอเมริกันวันนี้ที่ออนไลน์อยู่ในเน็ตมากถึง 54% ของทั้งประเทศแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหาก usTLD จะก้าวขึ้นมาติดกลุ่มชื่อโดเมนที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในอนาคต

นับจากวันนี้ไป ผมอยากให้ท่านที่สนใจลองติดตามดูผลการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ ccTLD ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่ .au ของออสเตรเลียที่เริ่มไปแล้ว มาถึง .jp ของญี่ปุ่นที่กำลังรอลงปากกาเซ็นข้อตกลงขั้นสุดท้ายสำหรับการ re-delegation ผู้รับผิดชอบจาก Japan Network Information Center (JPNIC) ไปสู่ Japan Registry Service Co., Ltd. (JPRS) ที่น่าจะผ่าน ICANN ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะเป็น ccTLD ลำดับสองที่มีการ re-delegation ต่อจาก .au เพราะวันนี้คนญี่ปุ่นออนไลน์กันมาก ดังนั้นการปรับรูปแบบงานบริหารแบบไม่แสวงกำไรมาสู่การบริหารในเชิงธุรกิจย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ได้เห็นกันอย่างแน่นอน นอกจากนี้ก็ยังมี .cn ของจีนที่ปรับมาใช้ระบบผสมผสาน โดยรวมการแบ่งตามลักษณะการใช้งานและตามเขตภูมิศาตร์ (มณฑล) เข้ามาใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งส่งผลให้จีนวันนี้มีชื่อโดเมนภายใต้ .cn เพิ่มขึ้นเป็นแสนสามหมื่นชื่อเมื่อเทียบกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีน 34 ล้านคนจากประชากร 1,200 ล้านที่มีอยู่ทั้งหมด (โตขึ้นจากเมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีชื่อโดเมน .cn เพียง 5 หมื่นชื่อและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 9 ล้านคน) ดังนั้นท่ามกลางกระแสการตื่นตัวในเรื่องของโดเมนแห่งชาติที่แรงจนทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายการจัดการชื่อโดเมนกันใหม่นี้ หากในอนาคตอันใกล้ ชื่อโดเมน .th ของไทยจะเกิดการปรับเปลี่ยนขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะในเชิงโครงสร้างนโยบายใดๆ ที่ใช้กันมาแต่เดิม หรือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถึงในระดับโครงสร้างองค์กร.. ผมเองก็จะไม่แปลกใจเลย เพราะวันนี้มุมมองในเรื่องของจำนวนและความต้องการของผู้บริโภคที่จะส่งให้ถึงจุดคุ้มทุนได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ และการออก usTLD ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า..อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกกลมๆ ใบนี้


*NeuStar Inc. สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในวอชิงตัน มีพื้นฐานจากการเป็นผู้ดูแลระบบศูนย์ข้อมูลเลขหมายโทรศัพท์ในแถบเอมริกาเหนือทั้งหมด โดยแจ้งเกิดในธุรกิจชื่อโดเมนครั้งแรกจากการร่วมทุนกับ Melbourne IT ของออสเตรเลียประมูลสัมปทาน registry ระบบชื่อโดเมน .biz ภายใต้ชื่อ NeuLevel Inc.


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
Reuters, "Patriotic '.us' Internet address available in April", (13 February 2002)
Newsbytes, Adam Creed, "NeuStar Says Dot-Us Domain Names Available In April", (13 February 2002)
NeuStar Inc., Barbara Blackwell, "NeuStar's Press Room".


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ