|
|
|
IDN vs Keyword |
|
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์ |
|
5 มีนาคม 2545 |
|
"ตามมาตรฐานระบบชื่อโดเมนที่ระบุไว้ใน RFC-881 (The Domain Names Plan and Schedule) ที่เสนอโดย Dr. Jonathan B. Postel ในปี ค.ศ.1983
ได้มีการกำหนดให้นำเอาเครื่องหมาย "." มาใช้คั่นระหว่างชื่อโฮสต์และชื่อโดเมน และระหว่างโดเมนในแต่ละลำดับชั้น..."
เมื่อไม่นานมานี้ ICANN ได้ออกประกาศชี้แจงความเข้าใจเกี่ยวกับบริการ Keyword ของ RealNames Corp ที่เริ่มรุกทำตลาดอยู่ในขณะนี้ว่าอาจมีปัญหาได้กับระบบชื่อโดเมน IDN (International Domain Name) ที่ ICANN ตั้งใจจะประกาศออกมาใช้ในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้เครื่องหมาย "." มาเป็นส่วนประกอบใน Keyword ในลักษณะ <non-ASCII>.<non-ASCII> ซึ่งผู้ใช้ก็จะเกิดความสับสนว่าชื่อที่ใช้เรียกนี้เป็นชื่อโดเมนหรือเป็น Keyword กันแน่ เพราะเป็นไปได้ว่าจะชี้ไปยังปลายทางที่ต่างกัน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการหลอกลวงกันได้ง่าย ซึ่งแม้ว่าจะทำงานภายใต้มาตรฐานที่รองรับโดย Internet Engineering Task Force (IETF) ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำงานคนละ platform เนื่องจากชื่อโดเมนนั้นจะทำงานโดยอาศัยการ resolve (แปลงเป็น IP) ผ่านทาง DNS server ในระบบ DNS ในขณะที่ Keyword จะอาศัยการทำงานผ่านระบบของ Browser หรือ Server Gateway ต่างๆ โดยตรง เพื่อชี้ไปยังปลายทาง (URL) ที่ระบุไว้ ซึ่งจะครอบอยู่บนการทำงานของชื่อโดเมนอีกชั้นหนึ่ง โดยในประกาศดังกล่าวได้ระบุว่าแม้ว่า ICANN จะรับรู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ICANN ก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยว ก้าวก่ายหรือเข้าควบคุมระบบใดๆ ที่อยู่นอกเหนือจาก DNS และ IP ไม่ว่าจะเป็นบริการ directory หรือบริการสืบค้นข้อมูลก็ตาม พูดง่ายๆ ก็คือ ICANN ได้ออกมาปฏิเสธและเตือนผู้บริโภคแล้วว่า บริการ Keyword นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับชื่อโดเมน และหากเกิดปัญหาก็จะไม่อยู่ภายใต้การรับรองหรือรับผิดชอบของ ICANN.. และแม้ว่าทาง RealNames เองจะได้มีการระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างชัดเจนแล้วว่า Keyword จะไม่มีวันที่จะถูกนำมาใช้งานแทนชื่อโดเมน เนื่องจากการใช้งาน Keyword ยังต้องอ้างอิงจาก URL ซึ่งอิงอยู่กับชื่อโดเมนก็ตาม
"Keyword" คือ คำหรือกลุ่มคำ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือเป็นตัวอักษรล้วนๆ แต่อาจเป็นสัญลัษณ์ต่างๆ หรือใช้ร่วมกับตัวอักษรภาษาท้องถิ่นก็ได้ (ตัวอักษรใหญ่หรือเล็กไม่ถือว่าแตกต่างกัน) เช่น อาจเป็น AT&T, NY Times หรือแม้แต่ "สวัสดี" ก็ยังได้ โดย Keyword นั้นจะต้องสามารถใช้สื่อถึง เว็บไซต์, Brand, ผลิตภัณฑ์, บริการ หรืออื่นๆ ที่ทำให้คิดถึงบริษัทหรือธุรกิจของผู้จด Keyword โดยจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการเข้าชมเว็บไซต์สามารถเรียกดูเว็บไซต์ได้เพียงแค่การพิมพ์ Keyword ลงในช่อง address ของ Browser แทน url หรือชื่อโดเมนเท่านั้น ทั้งนี้ Keyword ที่ดี จะต้องเน้นความหมายไปที่การระบุว่าเป็นเว็บไซต์ไหนหรือของใคร มากกว่าที่จะเน้นว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าหรือให้บริการอะไร
โดยผู้จด Keyword สามารถเลือกใช้บริการได้ 2 แบบ คือ
1. Basic Keywords ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการลงทุนมากนัก แต่ต้องการได้ Keyword มาใช้ เช่น บุคคลทั่วไปหรือบริษัทขนาดเล็ก โดยจ่ายค่าบริการปีละ $49 ดังนั้นจึงต้องยอมให้มีการใช้พื้นที่ของเว็บไซต์บางส่วน (ประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่หน้าจอแสดงผลทั้งหมด) ในการประชาสัมพันธ์บริการ Keyword ของ RealNames (จะมีลักษณะคล้ายๆ กับกรณีของเว็บไซต์ที่จดชื่อโดเมนที่จดผ่านบริการฟรีของ NameZero)
2. Keywords Plus หากต้องการใช้บริการนี้ จำเป็นต้องมาผ่านขั้นตอน Keyword Review ซึ่งจะมีการตรวจสอบความชัดเจนหรือความเฉพาะเจาะจงของ Keyword ที่ต้องการนำมาใช้ว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้ในการอ้างอิงเพื่อสื่อถึง ชื่อบริษัท, ชื่อทางการค้า, เครื่องหมายการค้า ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ Brand ที่ลูกค้าหรือคนทั่วไปรู้จักเมื่อเอ่ยถึงบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ต้องการจดทะเบียน Keyword นั้นๆ มาใช้งาน โดย Keyword จะต้องไม่ใช่คำสามัญที่สื่อถึงความหมายที่กว้าง เช่น Books, Health, Fitness หรืออื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทที่จดมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในคำที่จะนำมาใช้เป็น Keyword ดังนั้นสำหรับการตรวจสอบผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนนี้ ผู้ที่สนใจใช้บริการแบบ Keywords Plus (ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นบริษัทที่ใหญ่พอสมควร) ก็จะต้องจ่ายค่าบริการสำหรับการตรวจสอบ (Keyword Review) เพิ่มอีก $299 ซึ่งค่าบริการในส่วนนี้จะเป็นค่าบริการสำหรับการตรวจสอบสิทธิเท่านั้น จะไม่มีการรับประกันหรือคืนเงินให้หาก Keyword ที่ต้องการไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 5 วันทำการก็จะได้ทราบผล โดยถ้าหากว่าผ่าน เงินค่าบริการ $299 นี้ก็จะถูกเก็บไป พร้อมกับเงินอีก $199 (ที่จะต้องจ่ายล่วงหน้า) สำหรับค่าบริการจดทะเบียน Keywords Plus เป็นเวลา 1 ปี โดย Keyword ที่จดผ่านบริการ Keywords Plus จะได้รับการจัดวางตำแหน่งเป็นอันดับต้นๆ ใน MSN search อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้งาน Keyword สามารถทำการจดทะเบียน Keyword ไว้ในประเทศใดก็ได้ใน 244 ประเทศทั่วโลก (ปัจจุบัน RealNames เปิดให้จดได้แล้วใน 24 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, สวีเดน, อิตาลี, เยอรมัน, บราซิล, สเปน, เม็กซิโก, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อาฟริกาใต้, จีน (ฮ่องกง), ญี่ปุ่น, เกาหลี, และไต้หวัน) ซึ่ง Keyword แต่ละชื่อจะไม่สามารถจดซ้ำกันได้ในประเทศเดียวกัน (แต่อาจถูกจดได้ในประเทศอื่น) โดย Keyword ที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้น จะสามารถใช้งานได้เฉพาะภายในประเทศที่ได้เลือกไว้ในขั้นตอนการลงทะเบียนเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการให้ใช้งานได้ในหลายๆ ประเทศก็จำเป็นต้องจ่ายเพิ่ม (สำหรับอัตราค่าบริการนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับประเทศที่เปิดให้บริการ)
ทีนี้ เราลองย้อนกลับมาดูมาตรฐานชื่อโดเมน IDN ที่ยังเป็นปัญหาของ ICANN กันบ้าง
ในการที่จะปรับเปลี่ยนให้ชื่อโดเมนสามารถเรียกดูได้โดยใช้ภาษาท้องถิ่นของชาติต่างๆ ซึ่งใช้มาตรฐานการเข้ารหัสเป็น GB, BIG5, SJIS หรือกลุ่ม Unicode Transform อย่าง UTF-8 แทนภาษาอังกฤษที่ยืนตามมาตรฐานรหัส ASCII ที่ใช้มาแต่เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะในเชิงเทคนิคนั้นจะสามารถทำได้ 2 ทางคือ
1. ทำการแก้ไขที่ระบบที่ฝั่ง server side โดยตรง เพื่อให้ server สามารถแปลรหัสที่นอกเหนือจาก ASCII ได้ ซึ่งโดยหลักการแล้วทางเลือกนี้จะสมบูรณ์ที่สุด แต่จะมีความยุ่งยากมากที่สุดด้วย เพราะต้องจัดการกับระบบ server กว่าร้อยล้านเครื่องทั่วโลกที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่สามารถนับ หนึ่ง สอง สาม แล้วจัดการเปลี่ยนระบบลงโปรแกรมใหม่กันได้ในพริบตาหรือในระยะเวลาสั้นพอที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาโกลาหลไปทั่วโลกจากการที่ไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์ อีเมล์ หรือบริการอื่นๆ ได้
2. จัดการที่ฝั่ง client side หรือฝั่งผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเร็วกว่า โดยต้องลงโปรแกรมเพิ่มลงไปในเครื่องที่ของผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถแปลงรหัสจาก Unicode ให้เป็น ASCII ก่อนส่งออกไปได้ โดยใช้ ASCII Compatible Encoding (ACE) หรือ Row-based ASCII Compatible Encoding (RACE) ซึ่งสำหรับคนไทยที่ใช้บริการของ ThaiURL หรือ ชื่อไทย.คอม ก็คงรู้จักคุ้นเคยกันดี แต่วิธีนี้ก็จะติดปัญหาว่าหากเครื่องไหนที่ไม่ได้ลงโปรแกรมไว้ ก็จะไม่สามารถใช้งานบริการในลักษณะนี้ได้ หรือในกรณีของ iDNS.net ที่เพิ่มทางเลือกโดยอาศัย server ของ ISP ท้องถิ่นเข้ามาเป็นตัวประสานระบบให้ ก็ต้องพบกับปัญหาใหญ่ในการทำตลาดเช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถเข้าถึงตลาดผู้ใช้งานส่วนใหญ่ได้ แต่สำหรับกรณีของ RealNames นั้นต้องถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถดึงเอา MicroSoft และ VeriSign เข้ามาร่วมได้ จึงส่งผลให้บริการของ RealNames สามารถทำงานได้ทันทีผ่าน Browser IE ของ Microsoft ที่ตั้งแต่เวอร์ชั่น 5.0 ขึ้นไปได้ถูกปรับปรุงให้สามารถรองรับบริการนี้เอาไว้แล้ว โดยถ้าพบว่ามีการป้อนรหัสภาษาท้องถิ่นอย่าง UTF-8 IDN แทนที่จะเป็น ASCII ก็จะทำการส่งผ่านคำสั่งไปที่ server ของ RealNames ทันที โดยรหัส UTF-8 IDN ก็จะถูกแปลงเป็น ASCII และส่งไป resolve (แปลงค่าเป็น IP ปลายทาง) ผ่านบริการ multilingual ของ VeriSign ต่อไปตามขั้นตอนปกติ ซึ่งปัญหาจะลดลงไปเหลือเพียงกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่ได้ใช้ IE เท่านั้นที่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคืออัตราค่าบริการที่สูงกว่าระบบปกติถึง 6-10 เท่า และที่สำคัญก็จะนำไปสู่ระบบผูกขาดอีกด้วย นอกจากนี้จากการที่ต้องแปลงรหัสกลับเป็น ASCII ของการจัดการที่ฝั่ง client นี้ยังมีผลทำให้จำนวนตัวอักษรที่จะนำมาประกอบเป็นชื่อโดเมนทำได้น้อยกว่าการแก้ที่ฝั่ง server โดยตรงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดนั้นจะไม่ได้อยู่ภายใต้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว แต่จะต้องใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปในลักษณะ hybrid เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยทางเทคนิคอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาอีกมาก และที่สำคัญคือ ณ วันนี้ผู้ให้บริการ IDN แทบทุกรายต่างก็อ้างมาตรฐานตาม IETF ในขณะที่มาตรฐานจริงๆ ที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวในอนาคตนั้นยังอยู่ระหว่างการออกแบบและหาข้อสรุป และก็ไม่มีใครสามารถฟันธงลงไปได้ว่าเมื่อมาตรฐานใหม่ถูกนำออกมาใช้ (ซึ่งคงจะไม่ใช่ภายในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน) กลุ่มผู้บริโภคที่ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนเอาไว้กับผู้ให้บริการ IDN ในวันนี้จะเหลือสิทธิ์อะไรอยู่บ้าง เพราะจากตัวอย่างของชื่อโดเมน .biz ในวันนี้ที่ ICANN เปิดออกมาใหม่ ในขณะที่มีผู้จดชื่อโดเมน .biz เอาไว้กับ biztld.net อยู่แล้วในหลักแสนราย ส่งผลให้เจ้าของเว็บไซต์ .biz เหล่านี้แทบหมดอนาคตไปเลยทีเดียว เพราะในเมื่อ .biz ที่ ICANN รับรองสามารถ resolve ผ่าน root server ได้เหมือนๆ กับ .com แล้วใครบ้างที่อยากลงโปรแกรมเพิ่มลงไปเพียงให้สามารถเรียกดูเว็บไซต์แค่บางเว็บไซต์ได้ และก็ไม่ใช่ว่าโปรแกรมเหล่านี้เมื่อติดตั้งครั้งเดียวก็จะเรียกดูชื่อโดเมนนอกระบบได้ทั้งหมด แต่จะได้เฉพาะระบบใดระบบหนึ่งที่ลงไว้เท่านั้น ซึ่งนี่ถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ
ปัญหาของ ICANN ในการที่จะผลักดันมาตรฐาน IDN ออกมาในวันนี้ ยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาทางเทคนิคที่ได้กล่าวไปแล้ว และปัญหาในเชิงนโยบาย เช่น จะกำหนดมาตรฐาน IDN ให้ออกมาในลักษณะของ gTLD ตัวใหม่ หรือจะให้ครอบ TLD ทั้งหมดเข้าด้วยกันไปเลย ซึ่งก็ต้องมาพิจารณากันดูว่าจะส่งผลต่อชื่อโดเมนที่ใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบันอย่างไร รวมทั้งปัญหาเรื่อง cybersquatting ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ปัญหาจะมีความซับซ้อนและแก้ไขได้ยากขึ้น เพราะการที่ชื่อโดเมนใช้ภาษาที่ต่างกันจะสร้างความยากลำบากต่ออนุญาโตตุลาการในการพิจารณาคดี ซึ่งจำเป็นต้องสนับสนุนให้มีอนุญาโตตุลาการในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุง UDRP ที่เป็นแนวทางในการระงับข้อพิพาทเรื่องชื่อโดเมนใช้อยู่เดิมให้ครอบคลุมปัญหาใหม่ๆ นี้ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของระบบ whois ซึ่งใช้แสดงข้อมูลเจ้าของชื่อโดเมนว่าจะจัดทำออกมาในรูปแบบใดภายใต้โดเมนหลากหลายภาษา และประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ อีกมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ICANN ก็จะต้องรักษาแนวทางหลักเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้เป็นไปตามจุดยืนเดิม นั่นคือ
1. เรื่องเสถียรภาพของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการใช้งานระบบใหม่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเดิมที่ใช้อยู่
2. เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะต้องมีมาตรการในการป้องกันและรองรับปัญหาเรื่อง cybersquatting ที่ดีพอที่จะไม่ทำให้การออก IDN สร้างปัญหามากกว่าประโยชน์
3. เรื่องการแข่งขันเสรี ที่ต้องก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเข้าถึงตลาดส่วนใหญ่ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะเดียวกันก็ต้องถือนโยบายปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคไว้เป็นสำคัญ
นี่จึงถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของ ICANN หากตัดสินใจที่จะผลักดันโครงการ IDN ต่อไป เพราะคงต้องใช้เวลาในการปรับระบบเครือข่ายกันอีกหลายปีกว่าที่ทุกเครือข่ายจะสามารถปรับเปลี่ยนมารองรับ IDN ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งบุคคลและหน่วยงานที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องครอบคลุมไปทั้งเครือข่าย ตั้งแต่ตัวผู้ใช้, ISP, ผู้ผลิต Browser, BIND, ตลอดจนหน่วยงานด้านกฎหมาย, เจ้าของเทคโนโลยีและกลุ่มทุนต่างๆ และอีกมากมายสารพัด ซึ่งคำถามที่ว่า "มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะผลักดันให้เกิด IDN ขึ้นมา" จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาในแนวทางไหน ก็ขึ้นกับผลการศึกษาของ IDN Working Group ซึ่งเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจที่ Board ของ ICANN ตั้งขึ้นมาให้ทำการศึกษาเรื่อง IDN (นำทีมโดย Mr. Masanobu Katoh ตัวแทน At-Large Member ชาวญี่ปุ่นจากโซนเอเชีย) ที่มีกำหนดต้องส่งผลการศึกษาให้กับ ICANN ในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้..
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
ICANN, "Statement on Internet Keyword Issues", (15 February 2002)
ICANN, "Briefing Paper on Internet Keyword Issues", (15 February 2002)
IDN Committee, "Final Report", (28 August 2001)
RealNames, "About Keywords".
|
|
ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ |
|
|
|
Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.
|
|
|
|