Domain@tCost
19 April 2024  

HOME
 
ปรับโครงสร้าง ICANN ปฏิเสธเสียงผู้ใช้เน็ต
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
8 มีนาคม 2545

Stuart Lynn นั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารของ ICANN มาแล้วประมาณ 1 ปี หลังจากได้เห็นสภาพการดำเนินงานภายใน และการได้ติดต่อพูดคุยกับผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องอยู่ทุกๆ วัน ทำให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องตัดสินใจยกเครื่องจัดผังองค์กรของ ICANN ใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับกับปัญหาสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในตลาดให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมน, การออก UDRP เพื่อใช้รองรับข้อพิพาทจากการจดและใช้งานชื่อโดเมน, การออกโดเมนใหม่ทั้ง 7 ประเภท ฯลฯ ที่ ICANN ได้แบกรับภาระในการดูแลรับผิดชอบมากว่า 3 ปี รวมทั้งเป้าหมายที่ ICANN ได้วางไว้และกำลังผลักดันให้สำเร็จในอนาคต เช่น การปรับปรุงระบบ DNS (โดยเฉพาะในส่วนของการบริหารจัดการ Root Name Server ที่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอิสระต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องใช้เงินทุนสนับสนุนจากสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลสหรัฐ), การปรับนโยบาย ccTLD, International Domain Name (IDN) และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกได้อย่างฉับไวและรวดเร็วกว่าเดิม รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้มีการผลักดันนโยบายจากระดับล่างขึ้นบนในลักษณะ bottom-up ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ก้าวทันการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจเอกชนและรัฐบาลของนานาประเทศ และมีที่ว่างพอสำหรับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะที่การดำเนินนโยบายในปัจจุบันยังคงต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้สภาพโครงสร้างองค์กรที่ไม่สมบูรณ์และเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอเนื่องจากต้องเป็นผู้จัดหามาเอง โดยในขณะนี้ ICANN ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาการประกาศยุติการจ่ายเงินสนับสนุนในส่วนของการบริหารชื่อโดเมน ccTLD ของกลุ่มประเทศยุโรปด้วย

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ Lynn มองว่าที่ผ่านมา ICANN ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (หลังจากรับโอนความรับผิดชอบมาจาก IANA) คือการที่ ICANN มีรูปแบบการจัดการที่เป็นอิสระเกินไป ทำให้ถูกแยกให้โดดเดี่ยวออกจากโลกภายนอก ส่งผลให้ขาดการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ดูแลเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐาน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลชาติต่างๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับหน่วยงานระดับโลกอย่าง ICANN แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้เกิดการโน้มเอียงของดุลอำนาจที่จะเทไปยังชาติที่มีอิทธิพลเหนือกว่าได้ ดังนั้นแนวทางที่ Lynn เสนอจึงเป็นรูปแบบใหม่ที่มีการผสมผสานระหว่างรูปแบบเดิมกับรูปแบบที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ตามความคิดของ Lynn นั้นยังมองว่ารูปแบบการบริหารของ ICANN ยังต้องติดกับขั้นตอนที่มากเกินไปทำให้ขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ โดยเฉพาะเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญไปกับกลุ่มงานที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ใช่ตัวหลักในภารกิจที่ตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้กรรมการตัวแทนในส่วนของ At-Large Member ซึ่งถูกเลือกเข้ามาแทนกรรมการชุดเก่า 5 คนเมื่อปี 2000 ก็ยังถูก Lynn มองว่าเป็นจุดอ่อนของบอร์ดบริหารชุดนี้และเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ ICANN โดย Lynn เห็นว่าไม่ควรสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งที่ไม่สามารถจะสะท้อนเสียงที่แท้จริงจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนี้อีกต่อไป (การเลือกตั้ง At-Large Member ที่จัดโดย ICANN ในช่วงปลายปี 2000 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมลงคะแนนเพียง 34,035 คนเท่านั้น จากทั้งหมดที่คาดว่ามีประมาณ 380 ล้านคนทั่วโลกในขณะนั้น)

โครงสร้างการบริหารรูปแบบใหม่ภายใต้ Board of Trustees ตามข้อเสนอของ Lynn นั้นจะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 15 คน (จากเดิม 19 คน) ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายของ ICANN รวมทั้งสามารถจัดการกับปัญหาทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องเป็นพิเศษ โดยโครงสร้างของ Board of Trustees จะประกอบไปด้วย
1. At Large Trustees (10 คน)
- 5 คน (เลือกจากแต่ละเขตภูมิภาค) เสนอชื่อเข้าคัดเลือกโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ และรับรองโดย Board of Trustees
- 5 คน จากการเลือกตั้งในระบบเปิด (แบบเดิม) และรับรองโดย Board of Trustees
2. Ex Officio Trustees (5 คน)
- CEO (1 คน)
- Chairs of Policy Councils (4 คน) จากตัวแทนของ Address and Numbering Policy Council, Generic TLD Names Policy Council, Geographic TLD Names Policy Council และ Technical Advisory Committee ที่จะมีการก่อตั้งขึ้นใหม่กลุ่มละ 1 คน

นอกจากนี้ก็จะมีการก่อตั้ง Security Committee และ Root Name Server Operations Committee เพิ่มขึ้นมา เพื่อช่วยใน 2 ส่วนงานที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ส่วนกรณีของ Forums นั้นะยังคงไว้ให้อยู่ในความดูแลของ DNSO ต่อไป เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มย่อยต่างๆ เช่น ISP, Registry, Registrar ฯลฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสาร แนวทางการพัฒนา รวมทั้งช่วยตรวจสอบข้อเสนอสัญญาต่างๆ ของ ICANN ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำเข้าสู่การประชุมที่ Accra ที่จะมีขึ้นในกลางเดือนนี้

"มันเป็นโครงการที่งี่เง่ามาก" (I think it's a stupid plan) เป็นคำตอบของ Karl Auerbach หนึ่งในกรรมการบอร์ดชุดปัจจุบันของ ICANN ซึ่งเป็นตัวแทน At-Large Member จากทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อโครงการใหม่ของ Lynn โดยกล่าวว่าแผนการนี้จะนำมาซึ่งความแตกแยกและนำ ICANN ไปสู่จุดจบในที่สุด ทั้งนี้โดยส่วนตัวแล้ว Auerbach และ Lynn ก็ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ โดย Auerbach เคยถูก Lynn กล่าวหาว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ในขณะที่ Auerbach เองก็กล่าวหา Lynn ว่าเลือกปฏิบัติในการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้

หากจะว่าไปแล้ว เหตุผลของ Lynn ที่ว่าตัวแทน At-Large Member ที่เลือกเข้ามาด้วยวิธีเดิมนั้นไม่มีความโปร่งใส เพราะมาจากเสียงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ถึง 0.01% เสียด้วยซ้ำ จึงมีโอกาสง่ายมากที่จะเกิดภาวะเสียงจัดตั้งในการส่งตัวแทนของชาติใดๆ ชาติหนึ่งเข้ามาแสวงประโยชน์ใน ICANN ซึ่งตรงจุดนี้ก็ถือว่ามีน้ำหนักน่าฟังไม่น้อย แต่เหตุผลในมุมมองของ Auerbach นั้นก็ฟังขึ้น เพราะแต่เดิมนั้น ICANN มีกำหนดที่จะต้องเลือก At-Large Member อีก 4 คนเข้ามาแทนคณะกรรมการชุดเก่าที่มาจากการแต่งตั้งในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้เสียงของตัวแทนจากภายนอกเพิ่มขึ้นมาเป็น 9 เสียงหรือคิดเป็นกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด ดังนั้นการที่ Lynn ชิงปรับผังโครงสร้างก่อนที่ตัวแทน At-Large Member จะเข้าไปนั่งเต็มจำนวนนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะตามโครงสร้างใหม่ของ Lynn นั้นจะมีที่นั่งสำหรับกรรมการที่มาจากการเลือกโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเหลืออยู่เพียง 5 ตำแหน่งหรือเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Auerbach ก็เชื่อว่าโครงสร้างใหม่นี้คงจะได้รับการโหวตผ่านมติของที่ประชุม เนื่องจากกรรมการชุดเดิมยังคงผูกขาดเสียงส่วนใหญ่ใน ICANN แม้ว่าเขาจะเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันที่จะออกเสียงคัดค้านในมตินี้ก็ตาม

เหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างแน่นอนในที่ประชุม ICANN ที่ประเทศกานา แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามไป เช่น การเปิดทางให้รัฐบาลแต่ละชาติเข้ามามีส่วนร่วมใน At-Large Member ที่จะเพิ่มเข้ามาอีก 5 ตำแหน่ง ซึ่ง Lynn มองว่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินของ ICANN ให้มั่นคงยิ่งขึ้น (ในขณะที่ Esther Dyson อดีตประธานกรรมการบริหารของ ICANN ให้ความเห็นว่าตัวแทนจากภาครัฐไม่น่าจะเทียบได้กับตัวแทนอิสระที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ในข้อเสนอของ Lynn ก็ยังไม่มีการพูดชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาตัวแทนจากฝ่ายรัฐด้วย) ส่วนอีก 4 ตำแหน่งที่เหลือในส่วนของ Ex Officio นั้น (ไม่รวม CEO) ก็มาจากหน่วยงานที่ยังต้องรอการจัดตั้งในภายหลังด้วย นอกจากนี้ Lynn เองก็ไม่สามารถยืนยันชัดเจนถึงบทบาทในอนาคตของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะยังถืออำนาจเด็ดขาดที่จะฟันธงในทุกนโยบายของ ICANN ต่อไป โดยที่ไม่ต้องออกเงินสนับสนุนแม้แต่สตังค์แดงเดียว แต่จะใช้เงินทุนจากรัฐบาลชาติต่างๆ ที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม และจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านบริการต่างๆ

สุดท้ายเรื่องนี้จะเป็นการเดินเกมที่ชาญฉลาดของ Lynn ในการฉวยโอกาสเปลี่ยนโฉม ICANN โดยใช้หลักการคานอำนาจ ในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ปัญหาเงินทุนที่มีจำกัดของ ICANN ลงไปได้ในช่วงที่ตัวเองยังมีอำนาจอยู่ หรือจะกลายมาเป็นการ "ตั้งเอง-ชงเอง-ตบเอง" ของสหรัฐฯ หรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับคุณล่ะครับ.. ว่าคิดกันอย่างไร?


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
David McGuire, Newsbytes, "ICANN President: Reforms Not Set In Stone", (04 Mar 2002)
Tamsin McMahon, Europemedia.net, "ICANN to overhaul organisation", (27 February 2002)
David McGuire, Newsbytes, "ICANN President Defends Proposed Reforms", (26 February 2002)
Associated Press, "Watchdogs denounce ICANN revamp", (26 February 2002)
David McGuire, Newsbytes, "ICANN President Proposes Sweeping Governance Changes", (25 February 2002)
ICANN, "President's Report: ICANN – The Case for Reform", (24 February 2002)


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ