Domain@tCost
15 September 2024  

HOME
 
Liverpool FC -@- ThaiAmazon ???
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
10 เมษายน 2545

สโมสร Liverpool เพิ่งชนะคดีฟ้องขอสิทธิ์ในการใช้งานชื่อโดเมน liverpoolfc.com เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง ข่าวนี้คงพอช่วยปลอบใจแฟนๆ ของหงส์แดงจากพลาดท่าในการไปเยือนไบเออร์ เลเวอร์-คูเซน ในศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกรอบควอเตอร์ไฟนอลเมื่อคืนนี้ได้บ้าง

คดีนี้ถูกยื่นฟ้องผ่าน WIPO โดยทางสโมสร Liverpool ได้เป็นโจทก์ร่วมกับ LiverpoolFC.TV Ltd ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสโมสร Liverpool กับ Granada Media plc ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2000 เพื่อดูแลจัดการในเรื่องลิขสิทธิ์ รวมถึงการจัดจำหน่ายตั๋วและของที่ระลึกต่างๆ ของสโมสรฯ ผ่านทางเว็บไซต์ liverpoolfc.tv ซึ่งเป็นเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวของหงส์แดงในปัจจุบัน ส่วนผู้ถูกร้องคือนาย Andrew James Hetherington ที่เป็นเจ้าของชื่อโดเมน liverpoolfc.com

สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ชื่อโดเมน liverpoolfc.com ได้ถูกจดโดย Liverpool Flying Club of America ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2000 ก่อนที่จะขายต่อให้กับนาย Andrew ในเวลาต่อมา และจากการที่ชื่อโดเมน liverpoolfc.com ได้ถูกจดไปก่อนนี้ ก็ส่งผลให้ LiverpoolFC.TV Ltd ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น LiverpoolFC.com Ltd ในเดือนสิงหาคม (โดยที่ยังไม่ได้จดชื่อโดเมน liverpoolfc.com) จำต้องเปลี่ยนชื่อกลับเป็น LiverpoolFC.TV Ltd เนื่องจากพลาดการจดชื่อโดเมน .com

ทาง LiverpoolFC.TV Ltd ได้เคยเจรจาขอซื้อชื่อโดเมนจากนาย Andrew มาแล้วครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม ปี 2000 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากนาย Andrew อ้างเหตุผลว่าได้วางแผนธุรกิจและกันเงินลงทุนไว้สำหรับการเปิดตัว Liverpool Fashion Club เอาไว้เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะได้มีการเสนอราคาให้กับชื่อโดเมนดังกล่าวเป็นจำนวนเงินถึง 50,000 ปอนด์แล้วก็ตาม แต่ก็ถูกเรียกราคากลับถึง 125,000 ปอนด์ทำให้ต้องยกเลิกการเจรจาไป อย่างไรก็ตามจนถึงปี 2001 เว็บไซต์ liverpoolfc.com ก็ยังคงมีข้อมูลอยู่เพียงหน้าแรกหน้าเดียวเท่านั้น แต่ไปปรากฏชื่ออยู่ใน search engine อย่าง Google โดยขึ้นชื่อโดเมนและข้อความว่า "This domain is for sale" (ข้อความนี้ได้ถูกลบออกไปในเดือนกันยายน 2001) ต่อมาในเดือนมกราคม 2002 เว็บไซต์แห่งนี้ก็ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาโดยเพิ่มส่วนของการ Login เข้าระบบสำหรับสมาชิกเข้ามา แต่จากการตรวจสอบก็พบว่าระบบดังกล่าวไม่สามารถใช้เชื่อมโยงไปยังเว็บเพจหรือบริการใดๆ ได้

LiverpoolFC.TV Ltd ได้เสนอซื้อชื่อโดเมน liverpoolfc.com อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2001 หลังจากพบว่ามีการประกาศขายชื่อโดเมนนี้อีกครั้ง แต่ถูกเรียกราคา 50,000 ปอนด์จากที่เสนอไป 5,000 ปอนด์ โดย LiverpoolFC.TV Ltd ก็ได้พบว่านาย Andrew ได้จดชื่อโดเมนอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันไว้ด้วย ได้แก่ londonfc.com, parisfc.com, madridfc.com, romefc.com และ newyorkfc.com โดยทั้งหมดถูกชี้ไปยังเว็บเพจหน้าเดียวกัน

ส่วนนาย Andrew ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ให้เหตุผลว่า ได้อยู่ในวงการแฟชั่นมาราว 20 ปีแล้ว โดยมีธุรกิจค้าปลีกของตัวเองที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป การที่เว็บไซต์ liverpoolfc.com ไม่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาต่อนั้นเนื่องจากไม่มีเวลาเพียงพอ อีกทั้งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการลงข้อความหรือข่างสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่มีเว็บไซต์มากมายที่ลงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ Liverpool Football Club ส่วนการเจรจาซื้อขายกันนั้น ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นการซื้อขายชื่อโดเมนที่อ้างถึง "Liverpool Fashion Club" ดังนั้นจึงไม่คิดว่าตัวเองจะมีความผิดแต่อย่างใด

สำหรับการพิจารณาคดีได้มีการสรุปสำนวนออกมาตามเงื่อนไขของ UDRP ดังนี้
1. ความเหมือนหรือคล้ายคลีงกันจนก่อให้เกิดความสับสน
1.1. สโมสร Liverpool ปัจจุบันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Liverpool Football Club และ LFC ซึ่งจดทะเบียนไว้ในประเทศอังกฤษ ในขณะที่ LiverpoolFC.TV Ltd ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมก็ได้ใช้คำว่า LiverpoolFC รวมเป็นส่วนหนึ่งในชื่อของบริษัท
1.2. Liverpool Football Club ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในฐานะสโมสรเก่าแก่ของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1888 เท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะแชมป์บอลยุโรปและยูฟ่าคัพหลายสมัยอีกด้วย
1.3. Liverpool เป็นชื่อเมืองซึ่งมีความหมายระบุในเชิงแหล่งกำเนิดหรือถิ่นฐานทางภูมิศาสตร์ ในขณะที่คำว่า FC นั้นก็เป็นที่เข้าใจและใช้กันโดยทั่วไปในฐานะคำย่อของ Football Club ดังนั้นเมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันเป็น LiverpoolFC ก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึงชื่อบริการจดทะเบียนของโจทก์ได้
2. สิทธิ์ในการแสวงประโยชน์ทางกฎหมายจากชื่อโดเมน
แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีหลักฐานมาแสดงยืนยันในสิทธิ์ที่อ้างถึงชื่อโดเมนที่เป็นข้อพิพาท แต่ UDRP ก็เปิดโอกาสให้คณะลูกขุนสามารถพิจารณาหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งนี้ได้มีการหยิบยกเอาฎีกาที่ใกล้เคียงกันซึ่งได้เคยมีการพิจารณาตัดสินให้โอนชื่อคืนเจ้าของสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น คดี Damon Hill Grand Prix Limited v The New Group (WIPO Case No. D2001-1362) ซึ่งมีการจดชื่อโดเมน damonhill.com โดยอ้างว่าหมายความถึง dam-on-hill แต่ผลการพิจารณาคดีตัดสินให้ต้องโอนชื่อคืนแก่ Damon Hill Grand Prix Limited เนื่องจาก damonhill มีคำอ่านโดยสากลเป็น day-mon-hill และคดี FC Bayern Munchen e.V v Miguel Garcia (WIPO Case No. D2000-1773) ซึ่งได้มีการจดชื่อโดเมน fcbayern.com โดยอ้างว่า FC ย่อมาจาก Fans Club ในขณะที่คนทั่วไปเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง Football Club ดังนั้นหากอาศัยการพิจารณาความในแนวทางเดียวกัน จึงไม่เห็นเหตุผลที่ LiverpoolFC จะสามารถสื่อให้สาธารณะเข้าใจว่าหมายถึง Liverpool Fashion Club ได้
3. การจดและใช้งานชื่อโดเมนโดยมีเจตนามิชอบ
แม้ว่าการเสนอซื้อชื่อโดเมนมาขายต่อในราคาที่สูงจะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาทำการจดและใช้งานชื่อโดเมนโดยมีเจตนามิชอบ แต่จากการที่ผู้ถูกกล่าวหามีภูมิลำเนาและประกอบธุรกิจอยู่ในเมือง Liverpool ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เคยตระหนักรู้ถึงชื่อเสียงและสิทธิ์ในชื่อนั้นของโจทก์มาก่อน

ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้จึงเพียงพอที่จะตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องโอนชื่อโดเมน liverpoolfc.com คืนให้กับ LiverpoolFC.TV Limited ในที่สุด (WIPO Case No. D2002-0046)

คดีในลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นคดีสุดฮิตในระยะหลังๆ มานี้ โดยเป็นการอาศัยช่องว่างจากความเกี่ยวข้องของตัวอักษรที่ประกอบกันขึ้นเป็นชื่อโดเมนจนเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าใจผิด แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจะได้รับชัยชนะทุกครั้งไป เช่นในคดี G. A. Modefine S.A. v. A.R. Mani กับชื่อโดเมน armani.com ที่จดโดยนาย Anand Ramnath Mani (WIPO Case No. D2001-0537) คดีนี้หากดูเพียงผิวเผินประกอบกับหลักฐานที่มีการยืนยันชัดเจนว่านาย Anand เคยขอต่อรองราคาขายชื่อโดเมนจากที่มีการเสนอซื้อที่ $1,250 เป็น $1,935 แต่หลักฐานนี้ก็ไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า นาย Anand จดชื่อโดเมนนี้มาโดยมีเจตนามิชอบ ทั้งนี้เนื่องจากไม่เคยปรากฏหลักฐานอื่นใดเลยว่านาย Anand เคยเอาชื่อโดเมนนี้ไปใช้ในทางที่ทำให้เจ้าของแบรนด์ ARMANI ต้องเสียประโยชน์ นอกจากนี้เขายังใช้ชื่อทางการค้า A.R.Mani กับงานศิลป์ของเขาที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 1981 แล้ว อีกทั้งยังไม่เคยใช้ชื่อโดเมนนี้ใดการจัดทำเป็นเว็บไซต์เลย ใช้เพียงแต่ใช้กับ Email เพื่อติดต่อลูกค้าเท่านั้น ดังนั้นในคดีนี้ศาลจึงมีคำสั่งยกฟ้องไป

สำหรับ ThaiAmazon.com นั้น ถือเป็นชื่อโดเมนของคนไทยรายล่าสุด (เท่าที่ทราบ) ที่เพิ่งมีการยื่นฟ้องกันไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ผลการพิจารณาคดียังไม่ปรากฏออกมาว่าสุดท้ายเครือ AR จะเสียชื่อโดเมนนี้ไปหรือไม่ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของ WIPO ตามฎีกาเลขที่ D2001-1392 และแม้ว่าชื่อโดเมนนี้ในปัจจุบันจะถูกใช้เพียงให้ชี้ไปที่เว็บไซต์ ar4u.com มานานพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ก็คงยังจำกันได้ว่า ThaiAmazon.com เคยเป็นเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยเหมือนกัน ดังนั้นใครที่เอาใจช่วยก็คงต้องตามเชียร์ตามลุ้นกันต่อไปครับ (ปัจจุบันชื่อโดเมน ThaiAmazon.com ได้ถูกตัดสินให้ย้ายชื่อไปให้กับทาง Amazon.com แล้ว ตามฎีกาเลขที่ D2001-1392 ด้วยเหตุผลที่เป็นชื่อที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Amazon.com อีกทั้งยังมีการให้บริการและขายสินค้าในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีการลอกแบบหน้าตาของเว็บไซต์ Amazon.com มาใช้ทำให้ผู้เข้าชมเกิดการเข้าใจผิด โดยพิสูจน์ได้ว่าขณะที่จดชื่อโดเมน ThaiAmazon.com ผู้จดได้ทราบถึงสิทธิ์ของ Amazon.com อยู่แล้ว แต่ต้องการอาศัยชื่อเสียงของ Amazon.com เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ แม้ว่าทาง A.R. Information & Publication Co., Ltd. จะได้แย้งว่า สิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Amazon.com ไม่สามารถครอบคลุมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศไว้ในเว็บไซต์ ThaiAmazon.com อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าสินค้าและบริการไม่ได้เกี่ยวข้องกับของ Amazon.com แต่ก็ไม่สามารถแสดงเหตุผลหรือหลักฐานใดๆ ให้เห็นได้ว่าเหตุใดจึงเลือกใช้คำว่า Amazon ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศไทยหรือกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไทยมารวมไว้ในชื่อโดเมน - เพิ่มเติม 9/05/2545)

ถึงวันนี้ แม้ว่า UDRP (Uniform Domain-Name Dispute-Resolution Policy) จะไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวในการใช้ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดและใช้ชื่อโดเมนของชาวโลก แต่โดยส่วนตัวก็คิดว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้แล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมทาง DNSO ก็เพิ่งจัดทำแบบสอบถามเพื่อปรับปรุงลดจุดออ่อนเสริมจุดแกร่งของ UDRP ให้ดียิ่งๆ ขั้นไป โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลซึ่งคิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงออกมาให้เห็นภายในปีนี้

สุดท้ายนี้ ในช่วงนี้หากมีใครได้รับ Email ที่ส่งมาจาก XChange Dispute Resolution โดยอ้างว่าเป็นหนึ่งในอนุญาโตตุลาการที่ได้รับรองจาก ICANN โดยขอให้ส่งเงิน (security deposit fee) กลับไปเพื่อรักษาสิทธิ์ความเป็นเจ้าของชื่อโดเมนของคุณก็กรุณาอย่าเชื่อนะครับ เพราะทาง ICANN ได้ออกประกาศเตือนมาแล้ว (อ่านรายละเอียดได้ที่ Advisory Concerning Deceptive Notices from "XChange Dispute Resolution")


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
BBC NEWS, "Liverpool evict 'cybersquatter'", (8 April 2002)


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ