Domain@tCost
28 March 2024  

HOME
 
โดเมนเนมมาจากไหน? (ภาค ๑)
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
18 สิงหาคม 2543

หลายท่านอาจจะรู้และคุ้นเคยกับความหมายของโดเมนเนมอยู่แล้วว่าคืออะไร ใช้ทำอะไร และสำคัญอย่างไร แต่อาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโดเมนเนม และอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้วโดเมนเนมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อไหร่ และใครเป็นคนต้นคิด รวมทั้งพัฒนาการซึ่งต่อยอดจนทำให้เกิด ICANN และการเปิดเสรีโดเมนเนมในปัจจุบัน เนื่องจาก DomainAtCost.com เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับโดเมนเนม และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเราที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเผยแพร่ความรู้ให้กับชาวเน็ต วันนี้ผมจึงขออาสาพาคุณย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปพบกับเรื่องราวของโดเมนเนม.. ตามผมมาเลยครับ

โดเมนเนมหรือชื่อโดเมนนั้น เกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ในการที่จะให้ผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายสามารถที่จะเข้าถึงหรือเรียกไปยังโฮสต์ที่ต้องการได้โดยใช้ชื่อที่สามารถจดจำได้ง่ายแทนที่จะเป็นชุดของตัวเลขซึ่งยากแก่การจดจำและไม่สะดวกที่จะพูด แต่ก่อนที่ผมจะพาคุณไปสู่เรื่องราวของโดเมนเนม เพื่อให้คุณสามารถประติดประต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ผมจะขอพาคุณแวะไปดูเรื่องราวเครือข่ายที่เป็นที่มาของโดเมนเนมที่เราเรียกกันว่า Internet กันก่อนครับ

ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1962 ภายหลังจากที่ Leonard Kleinrock นักวิจัยจาก MIT ได้นำเสนอทฤษฎี Packet Switching เพียง 1 ปี แนวคิดเรื่อง "Galactic Network" ก็ได้ถูกเขียนขึ้นโดย J.C.R. Licklider นักวิจัยจากสถาบันเดียวกัน โดยได้เสนอแนวคิดที่จะเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ทั้งหมดบนโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือโปรแกรมที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าผู้ร้องขอจะอยู่ที่ใดและไม่ว่าข้อมูลหรือโปรแกรมเหล่านั้นจะอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ตาม

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน Licklider ก็เข้ามาเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านคอมพิวเตอร์คนแรกของ DARPA (US Defense Advanced Research Projects Administration) โดยที่ยังคงผลักดันแนวคิดเรื่องเครือข่ายของเขาต่อไป

หลังจากนั้นอีก 4 ปี คือในปลายปี ค.ศ.1966 แนวคิดของ Kleinrock และ Licklider เริ่มที่จะมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เมื่อ Lawrence G. Roberts แห่งมหาวิทยาลัย MIT ได้ไปที่ DARPA และนำแนวคิดทั้งสองมาผูกโยงเข้าด้วยกันภายใต้โครงข่ายที่มีชื่อว่า "ARPANET" ซึ่ง Roberts ได้ประกาศแนวคิดนี้ออกสู่สาธารณะในปี ค.ศ.1967

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ MIT ได้ทำการพัฒนาแนวคิดดังกล่าว (ค.ศ.1961-1967) ขณะนั้นก็มีอีก 2 สถาบันที่ได้ดำเนินการวิจัยมาพร้อมๆ กัน คือ RAND ภายใต้การนำของ Paul Baran ซึ่งวิจัยเรื่องการนำ Packet Switching มาใช้ในการส่งข้อมูลทางการทหาร (ค.ศ.1962-1965) และ NPL ของประเทศอังกฤษ โดย Donald Davies และ Roger Scantlebury ก็ได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง Packet Switching ให้เป็นความจริงขึ้นมา (ค.ศ.1964-1967) โดยที่แต่ละฝ่ายต่างไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าขณะที่ทำการวิจัยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีสถาบันอื่นเริ่มต้นการวิจัยในหัวข้อเดียวกัน (ผลการวิจัยเรื่อง Packet Switching ของ NPL นี้ได้ช่วยให้ ARPANET สามารถปรับปรุงความเร็วในการรับส่งข้อมูลจาก 2.4 kbps ไปเป็น 50 kbps ในเวลาต่อมา)

ARPANET ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาในเดือนกันยายน 1969 เมื่อมีการเชื่อมต่อโฮสต์ของสถาบันวิจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีโหนดแรกอยู่ที่ UCLA ดูแลโดย Kleinrock ซึ่งเป็นส่วนของ Network Managemant Center โหนดที่สองอยู่ที่ SRI (Stanford Research Institute) ทำหน้าที่ดูแลเก็บรักษารายชื่อของโฮสต์และ IP Address ทั้งหมดในเครือข่าย ต่อมามหาวิทยาลัย UC Santa Barbara และ University of Utah ก็เป็นอีก 2 โหนดที่เชื่อมต่อเข้าไปยัง ARPANET เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเรื่องการ refresh หน้าจอและการแสดงผลแบบ 3 มิติบนเครือข่าย ดังนั้นจนถึงสิ้นปี ค.ศ.1969 จำนวนโฮสต์ทั้งหมดที่เชื่อมต่อในเครือข่าย ARPANET จึงมีเพียง 4 โฮสต์เท่านั้น

เดือนธันวาคมปีต่อมา ในขณะที่จำนวนโฮสต์ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ ARPANET เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง Network Working Group (NWG) ภายใต้การนำของ S. Crocker ก็ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรโตคอลที่ใช้ในการติดต่อระหว่างโฮสต์ โดยตั้งชื่อว่า Network Control Protocal (NCP) ซึ่งโปรโตคอลดังกล่าวได้ถูกนำมาติดตั้งใช้งานในเครือข่าย ARPANET จนเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1972 ซึ่งนับจากนั้นมา การพัฒนา Application ต่างๆ บนเครือข่ายก็เริ่มต้นขึ้น โดยในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง โปรแกรมในการรับส่งข่าวสารผ่าน email โปรแกรมแรกได้ถูกเขียนขึ้นโดย Ray Tomlinson และต่อมาในเดือนกรกฎาคม Lawrence G. Roberts ก็ได้เขียนโปรแกรมรับส่ง email ซึ่งมีอรรถประโยชน์สูงขึ้น เช่น สามารถแสดงรายชื่อ email ที่ได้รับและเลือกเปิดอ่านได้ รวมทั้งการตอบกลับและการทำ forward ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของโปรแกรมรับส่ง email ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

จากจุดเริ่มต้นของ ARPANET ด้วย Packet Switching Network จนมาเป็นเครือข่าย Internet ที่ครอบคลุมออกไปทั้ง Packet Satellite Network และ Ground-Based Packet Radio Network ในปัจจุบัน จริงๆ แล้วปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ Internet เกิดขึ้นมาได้ก็คือแนวคิดในเรื่องของ Internetworking Architecture ซึ่งช่วยให้เครือข่ายอิสระต่างๆ ซึ่งออกแบบเพื่อใช้งานในลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร สามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ (ตามแนวคิดของ Bob Kahn เรื่อง Open-Architecture Networking ในปี ค.ศ.1972) อย่างไรก็ดี การติดต่อสื่อสารกันระหว่างโฮสต์ผ่านโปรโตคอล NCP ในเวลาต่อมาก็พบปัญหาในเรื่องของความสามารถในการระบุตำแหน่ง (address) ของโฮสต์ที่อยู่ในเครือข่าย และเนื่องจาก NCP ไม่มีการควบคุมความผิดพลาดของข้อมูลที่ส่งระหว่างต้นทางและปลายทาง ดังนั้นหากข้อมูลเกิดสูญหายไประหว่างทางก็จะทำให้การส่งข้อมูลหยุดชะงักไปได้

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Kahn จึงตัดสินใจพัฒนาโปรโตคอลตัวใหม่ที่สามารถทำงานได้ใน Open-Architecture Network ซึ่งมีชื่อว่า Transmission Control Protocal/Internet Protocal หรือ TCP/IP ที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

โดยในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1973 Kahn ได้ร่วมมือกับ Vint Cerf ซึ่งเคยอยู่ในทีมพัฒนาโปรโตคอล NCP อีกทั้งมีความรู้ในเรื่องของระบบปฏิบัติการเป็นอย่างดี ทำการพัฒนา TCP/IP ให้เป็นความจริงขึ้นมา ซึ่งหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือการระบุตำแหน่งของโฮสต์ด้วย IP Address ขนาด 32 บิท โดย 8 บิทแรกจะใช้ระบุเครือข่ายว่าเป็นเครือข่ายใด ส่วนอีก 24 บิทที่เหลือจะใช้ระบุตำแหน่งของโฮสต์ที่อยู่ในเครือข่ายนั้น ตั้งแต่นั้นมา TCP/IP ก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้แทน NCP ในเครือข่ายทั้งหมดของ ARPANET ในวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ.1983

จากพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่กล่าวมา และความแพร่หลายของ PC และเทคโนโลยีเครือข่ายขนาดเล็กในช่วงทศวรรษ 1970 จนมาถึงปี ค.ศ.1985 เครือข่าย Internet ก็เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยความนิยมในการใช้งาน Email Application และด้วยแนวคิดเรื่อง World Wide Web และ Browser ในทศวรรษต่อมาซึ่งนำมาสู่ความยิ่งใหญ่ของเครือข่าย Internet ในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องของชื่อโดเมนนั้น ตามประวัติศาสตร์แล้วก็น่าจะเริ่มว่ากันตั้งแต่ที่ SRI ซึ่งตั้งอยู่ที่ Melo Park รัฐแคลิฟอร์เนีย (ต่อมารู้จักกันในชื่อของ The NIC) จัดทำ Host Table ที่ใช้จับคู่ชื่อของโฮสต์เข้ากับ IP Address ของเครื่องที่เก็บข้อมูลของโฮสต์นั้นๆ โดยนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ.1972 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการทำ virtual hosting (การอ้างถึงโฮสต์หลายโฮสต์ที่อยู่ในเครื่องเดียวกันโดยใช้เลข IP เดียวกัน) โดยการอ้างถึงโฮสต์ต่างๆ จะใช้เพียงชื่อโฮสต์เท่านั้น (ยังไม่มีการใช้ชื่อโดเมน) เช่น ISI, Berkeley, BBN และ email ก็จะใช้เป็น user@host เช่น Cerf@ISI, Fabry@Berkley หรือ Forsdick@BBN และเนื่องจากในขณะนั้นข้อมูลที่เก็บอยู่ใน Host Table ยังมีไม่มากนัก โดยสามารถเก็บลงในไฟล์ชื่อ hosts.txt เพียงไฟล์เดียวเท่านั้น ซึ่งไฟล์นี้จะมีการ update ข้อมูลสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

ต่อมาเมื่อ ARPANET มีขนาดใหญ่ขึ้นก็เริ่มมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เช่น
1. ความคับคั่งของเครือข่าย
เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดที่ถูกส่งมาจากโฮสต์ต่างๆ จะต้องวิ่งเข้ามา update ที่ SRI เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทำให้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่เดิมไม่สามารถรองรับได้
2. ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนของชื่อโฮสต์
เนื่องจากชื่อโฮสต์ที่เก็บในไฟล์ hosts.txt ไม่สามารถตั้งให้ซ้ำกันได้ ซึ่งแม้ว่า SRI จะเป็นผู้กำหนดเลข IP แต่ก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมการตั้งชื่อโฮสต์ ดังนั้นหากมีใครตั้งชื่อโฮสต์ไปก่อน ผู้ที่ตั้งทีหลังก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะตั้งให้ซ้ำกัน
3. เรื่องเสถียรภาพของเครือข่าย
เมื่อเครือข่ายขยายตัวใหญ่ขึ้น มีผู้ใช้และโฮสต์ที่มาเชื่อมต่อมากขึ้น การรักษาเสถียรภาพของเครือข่ายก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย

ผลกระทบจากปัญหาย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ปัญหาจากขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่าย ARPANET นี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่คำตอบของปัญหานี้จะอยู่ที่ใครและจะเป็นไปอย่างไร ขอเชิญติดตามอ่านต่อใน โดเมนเนมมาจากไหน? (ภาค ๒) กันได้เลยครับ


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ