Domain@tCost
29 March 2024  

HOME
 
โดเมนเนมมาจากไหน? (ภาค ๒)
18 สิงหาคม 2543
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์

ผลจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายของ ARPANET ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการระบบอ้างอิงตำแหน่งของโฮสต์ใหม่ โดยนำ Domain Concept มาใช้ ซึ่งจะแก้ปัญหาจากเดิมที่เป็นปัญหาคอขวดเนื่องจากการบริหารแบบรวมศูนย์ ไปเป็นการกระจายอำนาจในการจัดสรรชื่อแบบลำดับชั้นในลักษณะของ Domain Name Space (Root Server --> TLD --> SLD --> .. )

แนวคิดเรื่อง Domain Concept เริ่มมีการคุยกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 โดย Dr.Jonathan Postel ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางอินเทอร์เน็ต โดยในขณะนั้นทำงานอยู่ที่ UCLA โดยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบรายชื่อของโฮสต์และเลข IP (ภายใต้สัญญาพัฒนาร่วมกับ ARPANET) ต่อมาได้ย้ายมาทำงานให้กับ ISI (Information Sciences Institute) ที่ USC ขณะเดียวกันก็ยังคงดูแลการออกชื่อโฮสต์และเลข IP ร่วมกับ SRI (ภายใต้สัญญากับ DARPA) โดยในขณะนั้นจำนวนโฮสต์ที่อยู่ในเครือข่ายได้เพิ่มขึ้นเป็น 213 โฮสต์แล้ว (Host Table#152 สิงหาคม 1981) แนวคิดเรื่อง Domain Name เริ่มที่จะชัดเจนขึ้นในปี ค.ศ.1982 โดยมีการวางแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้การอ้างอิงเลข IP ด้วยชื่อโฮสต์ตามด้วยชื่อโดเมนแทนที่จะเป็นชื่อโฮสต์เพียงอย่างเดียวอย่างที่ใช้มาแต่เดิม ยกตัวอย่างเช่น จากเดิม email จะอยู่ในรูปของ user@host ก็เปลี่ยนเป็น user@host.domain

ในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา Dr.Jon Postel ก็ได้จัดทำแผนและกำหนดการในการออก Top Level Domain (RFC 881), RFC หรือ Requests for Comments เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับมาตรฐานทางเทคนิคที่รวบรวมจากความคิดเห็นของหน่วยงานเอกชนต่างๆ ซึ่งจัดทำโดย IETF (Internet Engineering Task Force), โดยชื่อโดเมนชื่อแรกที่มีการวางแผนนำมาใช้คือ .arpa ส่วนชื่อที่สองที่มีการนำออกใช้ทันทีที่ .arpa ถูกนำมาใช้คือ .ddn ส่วนชื่ออื่นๆ จะค่อยๆ เพิ่มตามมาภายหลัง (ชื่อโดเมนระดับ TLD อันได้แก่ .com .net .org .edu .gov และ .mil ได้เริ่มมีการนำมาใช้ในปี ค.ศ.1984)

ส่วนข้อกำหนดทางด้านเทคนิคต่างๆ ของระบบโดเมนเนม (RFC 882, 883) ได้รับการเสนอโดย Paul Mockapetris แห่ง USC's Information Sciences Institute ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1983 และต่อมาในปี ค.ศ.1984 Mockapetris ก็ได้พัฒนาระบบชื่อโดเมน (Domain Name System) ระบบแรกขึ้นมาภายใต้แนวคิดของ Domain Name Space (การอ้างอิงและค้นหาชื่อโดเมนแบบลำดับชั้น) โดยใช้ชื่อว่า JEEVES ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของการใช้งานชื่อโดเมนอย่างแท้จริง

ในเวลาต่อมา นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Berkeley ก็ได้พัฒนาโปรแกรมตัวใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ BIND (Berkeley Internet Name Domain) เพื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการ 4.2BSD (ตั้งแต่ version 4.3 ขึ้นไป) ด้วยเงินทุนสนับสนุนจากโครงการวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (DARPA) ซึ่ง BIND ตั้งแต่ version แรกจนถึง 4.8.3 อยู่ภายใต้การดูแลและพัฒนาโดย Computer Systems Research Group (CSRG) ของมหาวิทยาลัย Berkeley หลังจากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 ถึง 1987 BIND ได้ถูกพัฒนาโดย Digital Equipment Corporation (version 4.9 และ 4.9.1) ส่วน vesion 4.9.2 ได้รับการพัฒนาโดย Vixie Enterprises ของ Paul Vixie และตั้งแต่ version 4.9.3 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ Paul Vixie แต่ย้ายมาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ Internet Software Consortium (ISC) สาเหตุที่นำเรื่อง BIND มาเล่าค่อนข้างยาวก็เนื่องจากว่า BIND เป็นโปรแกรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน (โดยเฉพาะบนระบบปฏิบัติการ UNIX) เพื่อใช้ดูแลการทำงานในส่วนของ DNS Server ซึ่งมีหน้าที่ในการตีความหมาย (resolve) ชื่อโดเมนไปเป็นเลข IP ที่เครื่องคอมพิวเตอร์รู้จัก หรือแปลงเลข IP กลับมาเป็นชื่อโดเมนนั่นเอง

ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 DARPA ได้เข้ามาเป็นแกนหลักในการดูแลเครือข่าย Internet ด้วยความร่วมมือของ Dr.Jon Postel และ SRI ในการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้งานระบบชื่อโดเมน (DNS) จนถึงปี ค.ศ.1988 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็เริ่มที่จะยุติบทบาทของ ARPANET ลงภายหลังจากที่เครือข่าย NSFNET ได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1986 โดย ARPANET ได้ลดบทบาทไปอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ.1990

NSF (National Science Foundation) ถือเป็นองค์กรที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาการของโดเมนเนม โดยเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ รวมถึงการดูแลเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จากเครือข่าย backbone ความเร็วสูง NSFNET ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1987 ด้วยความร่วมมือจาก IBM, MCI และ Merit ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยกว่า 4,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ

จนเมื่อวันที่ 1 มกราคมปี ค.ศ.1993 NSF ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้บริการรับจดชื่อโดเมนภายใต้ข้อตกลงร่วมกับ Network Solutions, Inc. (NSI) เป็นเวลา 5 ปี โดย NSI ได้รับสิทธิ์ในการรับจดทะเบียนโดเมนเนมประเภท gTLD (Generic Top-Level Domain) ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง 4 ประเภทเท่านั้นคือ .com .net .org และ .edu ภายใต้การอนุญาตของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ Internet เติบโตขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาและการวิจัย

ในเดือนมีนาคมปี ค.ศ.1994 Dr.Jon Postel ได้เสนอให้มีการออก ccTLD (Country Code Top-Level Domain) ดังที่ปรากฏใน RFC 1591 โดยเสนอให้ใช้ชื่อโดเมนขนาด 2 ตัวอักษรตามมาตรฐาน ISO 3166-1 เช่น สหรัฐฯ ใช้เป็น .us, ประเทศไทยใช้เป็น .th, ประเทศญี่ปุ่นใช้เป็น .jp เป็นต้น โดยให้แต่ละประเทศตั้ง registry ของตัวเองขึ้นมาเพื่อดูแลชื่อโดเมนของประเทศนั้นๆ (ปัจจุบัน registry ในประเทศต่างๆ มีทั้งที่เป็นของภาครัฐและของภาคเอกชน สำหรับในประเทศไทย โดเมน .th ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของ ThNIC ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง registry และ registrar)

แต่เดิมนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนของการดูแลรักษาชื่อโดเมนได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NSF ต่อมาจำนวนผู้ใช้ Internet ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1995 NSI จึงได้รับอนุญาตให้เก็บค่าบริการจดชื่อโดเมน $70 สำหรับการจดและรักษาชื่อโดเมนเป็นเวลา 2 ปี และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป ค่าบริการจะคิดในอัตรา $35 ต่อปี และต่อมาในเดือนมีนาคมปี ค.ศ.1998 ได้มีข้อตกลงว่า 30% ของรายได้ทั้งหมดจะต้องถูกส่งเข้ารัฐเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเครือข่าย ดังนั้น NSI จึงขึ้นค่าบริการในส่วนเพิ่มนี้เป็น $100 สำหรับ 2 ปีแรกและ $50 สำหรับปีต่อๆ ไป (ปัจจุบัน NSI ได้ปรับลดราคาค่าบริการกลับลงมาเหลือ $70 และ $35 แล้ว)

แนวคิดเรื่องการเปิดเสรีการให้บริการรับจดชื่อโดเมนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 โดยในวันที่ 3 เดือนพฤษภาคมปีนั้น Dr.Jon Postel ซึ่งขณะนั้นเป็น Director ของ IANA ได้เสนอแนวคิดที่จะให้เกิดการแข่งขันในเรื่องการให้บริการจดชื่อโดเมน โดยเสนอให้เพิ่มจำนวนของ registry ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการจดชื่อโดเมนและรักษาระบบฐานข้อมูลของชื่อโดเมนทั้งหมดในระดับ TLD ให้มีจำนวนถึง 50 ราย โดยแต่ละรายมีสิทธิ์ที่จะออก TLD ใหม่ 3 ชื่อในปีแรก ซึ่งหมายความว่าจะมี TLD ใหม่ทั้งหมดถึง 150 ชื่อ รวมทั้งเพิ่ม registry อีก 30 รายพร้อม TLD อีก 90 ชื่อเพื่อรองรับการขยายตัวในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบทั้งหมด แต่ก็เป็นการจุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาขณะนั้นมีบริษัทเอกชนหลายรายได้มีการเปิดให้จองชื่อโดเมนใหม่ๆ เช่น MCSNet - .biz , Image Online Design - .web , Alternic - .exp .ltd .lnx .med .nic และ .xxx ซึ่ง Dr.Jon Postel ก็ได้พยายามที่จะผลักดันให้มีการตั้ง registry รายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาแข่งขันกับ NSI แต่ไม่เป็นผล

ต่อมาในเดือนกันยายน IANA และ The Internet Society (ISOC) ได้ร่วมกันก่อตั้ง The International Ad Hoc Committee (IAHC หรือ The Ad Hoc Committee) เพื่อให้ทำหน้าที่ในการพิจารณาข้อเสนอด้านการจัดการระบบชื่อโดเมนต่างๆ ที่ออกมา โดย The World Intellectual Property Organization (WIPO), The International Trademark Association (INTA), The Internet Architecture Board (IAB) และ The International Telecommunications Union (ITU) ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการของ IAHC ด้วย

ในที่สุด IAHC ก็ได้ออกร่างแผนงานการดูแลระบบชื่อโดเมนในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1996 โดยเสนอให้ออก gTLD ใหม่อีก 7 ชื่อ คือ .firm .shop .web .arts .rec .info และ .nom (แทนที่จะเป็น 150 ชื่อตามที่ Dr.Jon Postel เสนอในตอนแรก) โดยให้มีกลุ่มผู้ให้บริการเอกชนหรือ registrar รายใหม่ อยู่ภายใต้การดูแลของ registry เพียงรายเดียว (แบ่งสิทธิ์การให้บริการจดชื่อโดเมนทุกชื่อร่วมกัน) ภายใต้เงื่อนไขที่ The Council of Registrars หรือ CORE เป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลบริหาร gTLD โดยตรงที่รู้จักกันในชื่อของ gTLD-MoU (gTLD-Memorandum of Understanding) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1997 ซึ่งจะมีหน้าที่ดูแลการออก gTLD ใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาความขาดแคลนชื่อโดเมน อย่างไรก็ดีในช่วงเวลานั้น NSI ก็ยังคงผูกขาดการให้บริการต่อมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1998 ภายใต้เงื่อนไขสัญญาระหว่าง NSI และ NSF (หลังจากมีการยืดอายุสัญญามาตั้งแต่เดือนมีนาคม)

และในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 คณะบริหารของประธานาธิบดี Bill Clinton ก็ได้นำเสนอแนวคิดในการเปิดเสรีการให้บริการรับจดชื่อโดเมน โดยเป็นส่วนหนึ่งใน Framework for Global Electronic Commerce ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้ใช้ประโยชน์จากชื่อโดเมน รวมทั้งต้องการจัดตั้งองค์กรกลางที่มีอิสระขึ้นมาเป็นตัวแทนในการดำเนินการบริหารระบบชื่อโดเมนด้วย เนื่องจากในเวลานั้นได้เกิดปัญหาขึ้นหลายด้าน คือ
1. การขาดการแข่งขันในการให้บริการรับจดชื่อโดเมน
2. ปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้าและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากชื่อโดเมน
3. ผลประโยชน์ทางการค้าที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย Internet ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดระเบียบ
4. การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ Internet ในประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ
5. ชื่อโดเมนเริ่มที่จะมีมูลค่าทางการตลาด
6. การขยายตัวของ Internet ไปทั่วโลก ทำให้ไม่เหมาะสมที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นผู้ดูแลเครือข่ายต่อไป

ด้วยกระแสตื่นตัวทั้งหมดนี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และ NTIA (National Telecommunications and Information Administration) ต้องออก Green Paper เพื่อขอความคิดเห็นจากสาธารณะในการกำหนดแนวนโยบายของสหรัฐฯ ต่อเรื่องดังกล่าวในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1998

หลังจากที่มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1998 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ออก statement of policy on the management of Internet DNS หรือที่รู้จักกันในชื่อของ White Paper ซึ่งอธิบายกระบวนการในการจัดตั้งองค์กรกลางที่ไม่แสวงกำไรขึ้นมาดูแลรับผิดชอบระบบชื่อโดเมน ซึ่งในขณะนั้นถูกผูกขาดโดย NSI ที่เป็นทั้ง registry และ registrar แต่เพียงรายเดียว โดย White Paper นี้ก็ได้รับการตอบรับจาก The Internet Assigned Numbers Authority (IANA) ที่เป็นผู้ดูแลการออกชื่อโดเมนในวันที่ 2 ตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้ง The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือ ICANN และได้มีการลงนามขอบเขตความรับผิดชอบใน Memorandum of Understanding กับรัฐบาลสหรัฐฯ (กระทรวงพาณิชย์ - DoC) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1998

ก็ตั้งกันขึ้นมาแล้วนะครับ สำหรับ ICANN องค์กรกลางที่จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการให้บริการโดเมนเนมของโลก แม้ว่าในตอนเริ่มต้นคณะกรรมการทั้งหมดของ ICANN จะมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวสหรัฐฯ แต่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า (1-10 ตุลาคม) ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก At Large Member ของ ICANN เอาไว้ ก็จะมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปร่วม vote กรรมการ 5 ท่านที่มาจาก 5 เขตภูมิภาคเข้าไปแทนที่กรรมการชุดเดิม ซึ่งกรรมการชุดนี้จะเป็นกรรมการชุดแรกที่ได้มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งโลกครับ เอาละครับ.. ชักจะพูดนอกเรื่องมากไปแล้ว ตามไปดูบทบาทของ ICANN กันเลยดีกว่าครับใน โดเมนเนมมาจากไหน? (ภาค ๓)


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ