Domain@tCost
18 April 2024  

HOME
 
กรณีศึกษา..จดหมายจาก .au ถึง .th (2)
ผู้เขียน: สรพงษ์ อุนนาภิรักษ์
7 กุมภาพันธ์ 2545

บทความนี้ถือเป็นการติดตามผลการเปลี่ยนแปลง (re-delegation) ตัวผู้รับผิดชอบดูแล หรือ registry ของชื่อโดเมนกลุ่ม .au ของออสเตรเลีย ที่เปลี่ยนมือจากนาย Robert Elz อาสาสมัครที่ดูแลชื่อโดเมน ccTLD กลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้น ไปสู่ความรับผิดชอบขององค์กรไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ในชื่อ 'auDA'

อย่างที่ผมเคยนำเสนอเรื่องการ re-delegation .au ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ทาง auDA กำลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครเพื่อขอสิทธิ์ในการจองและเข้าร่วมประมูลชื่อโดเมนที่มีลักษณะเป็นคำสามัญภายใต้ .com.au ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในออสเตรเลีย แต่ที่ผ่านมานั้นนาย Robert Elz ได้ทำการสงวนชื่อที่มีลักษณะเป็นคำสามัญเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการใช้งาน เพราะเห็นว่าหากมีการเปิดให้จดก็จะถูกกลุ่มนักเก็งกำไรเข้ามากวาดเก็บชื่อดีๆ ไปจนหมดภายในเวลาไม่นาน และหลังจากนั้นก็จะนำไปปล่อยขายต่อให้กับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีกำลังซื้อ ซึ่งสุดท้ายผู้ที่ต้องการจดไปใช้งานแต่ไม่มีกำลังซื้อก็จะไม่สามารถจดได้อยู่ดี ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับชื่อโดเมน .com มาแล้ว

แต่เมื่อ auDA เข้ามาเป็นผู้บริหารชื่อโดเมนกลุ่มนี้ นโยบายก็เปลี่ยนไป โดยภายใต้แนวคิดของ auDA นั้นเห็นว่า หากเก็บชื่อสามัญซึ่งเป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่ต้องการ เช่น internet.com.au หรือ computers.com.au เอาไว้ ก็จะทำให้ต้องสูญเสียทรัพยากรที่ถือว่ามีจำกัดนี้ไปเปล่าๆ แต่หากเปิดให้จดกันแบบเสรี คือ จดก่อน-ได้ก่อน ก็จะเกิดการเก็งกำไร โดยที่ทาง auDA และผู้จดชื่อโดเมนอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วยเลย เนื่องจากเงินก้อนใหญ่จะตกไปอยู่ในมือของนักเก็งกำไรที่จดชื่อเก็บไว้ก่อนเท่านั้น ซึ่งในมุมองของ auDA เรื่องการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้บริษัทใหญ่เข้ามาถือครองชื่อโดเมนดีๆ นั้นดูจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นทางเลือกที่สามจึงถูกนำเสนอขึ้นมา โดยเปิดให้บุคคลหรือองค์กรทั่วไปสามารถจดเป็นเจ้าของชื่อโดเมนที่เป็นคำสามัญได้ (ยกเว้นชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ยังคงต้องสงวนไว้) โดยใช้การประมูลเป็นเครื่องมือหลักในการผันเงินที่เสียไปนอกระบบให้ไหลกลับเข้ามาในระบบ ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบชื่อโดเมนที่ต้องการได้จากบัญชีรายชื่อที่ auDA นำลงไว้ในเว็บไซต์ และทำการสมัครผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ทันทีหากเห็นว่าชื่อที่ต้องการมีความเกี่ยวข้องกับชื่อที่ตนมีสิทธิ์อยู่ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท (ซึ่งต้องจดทะเบียนไว้ก่อน 13 สิงหาคม 2544), เป็นชื่อทางการค้า หรืออื่นๆ โดยหลังจากปิดการรับสมัครไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นความจำนงค์เข้ามามากถึง 9,900 ราย ภายใต้ชื่อโดเมนที่เป็นคำสามัญจำนวน 2,200 ชื่อจากทั้งหมด 3,006 ชื่อที่มีอยู่ในรายการ

กระบวนการคัดสรรของ auDA นั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากการปิดรับสมัครในวันที่ 31 มกราคม 2545 โดยขั้นแรกจะทำการพิจารณาสิทธิ์ของผู้สมัครแต่ละรายกับชื่อโดเมนที่ยื่นขอมาก่อน ว่ามีความเกี่ยวข้องกันตามข้อกำหนดหรือไม่ (ผู้สนใจสามารถเลือกชื่อโดเมนที่ต้องการได้มากกว่า 1 ชื่อ) ซึ่งถ้าผ่านการพิจารณาสิทธิ์ก็จะได้ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป โดยในขั้นที่สองจะทำการพิจารณาจำนวนของผู้ยื่นความจำนงค์ต่อชื่อโดเมนแต่ละชื่อ ซึ่งในกรณีที่ชื่อโดเมนมีผู้ยื่นใบสมัครเข้ามาเพียงรายเดียว ผู้สมัครนั้นก็สามารถจ่ายค่าธรรมเนียม $110 สำหรับใบรับรองได้ทันที ซึ่งใบรับรองนี้จะใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ์ในการยื่นขอจดทะเบียนชื่อโดเมนที่ระบุไว้กับผู้ให้บริการรับจด (registrar) ที่ได้รับการรับรองจาก auDA ได้ในภายหลัง แต่สำหรับชื่อโดเมนที่มีผู้ต้องการเป็นจำนวนมากอย่าง computers.com.au ที่มีผู้ยื่นใบสมัครเข้ามามากถึง 76 รายนั้น ผู้สมัครแต่ละรายจะได้รับรหัสผ่านที่จะใช้ในการเข้าร่วมการประมูลออนไลน์ โดยผู้ที่ชนะการประมูลเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้ใบรับรอง (โดยต้องเสียค่าธรรมเนียม $110 ให้กับ auDA ก่อนเช่นกัน) สำหรับชื่อโดเมนที่เหลือที่ไม่มีผู้ยื่นขอเข้ามา ทาง auDA จะนำออกมาเปิดให้จดทะเบียนโดยอิสระตามหลักจดก่อน-ได้ก่อนต่อไป

เหตุที่ผมต้องนำเสนอรายละเอียดในส่วนของขั้นตอนกระบวนการคัดสรรที่ auDA นำมาใช้นั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของ registry ที่เปลี่ยนบทบาทจากการใช้นโยบายเชิงรับมาเป็นเชิงรุก โดยยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อดึงเม็ดเงินที่เสียไป (ทั้งที่จะไหลเข้ากระเป๋านักเก็งกำไรและการเสียโอกาสจากชื่อที่สงวนไว้) ให้กลับมาใช้หล่อเลี้ยงและพัฒนาองค์กรที่ดำเนินการภายใต้นโยบายไม่แสวงกำไรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแม้ว่าท้ายที่สุดชื่อที่ดีอย่าง computers.com.au, design.com.au, software.com.au, finance.com.au, health.com.au และอื่นๆ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ชื่อที่มีผู้ยื่นขอจองเข้ามามากที่สุด อาจจะต้องตกไปอยู่ในมือของบริษัทที่พร้อมทุ่มเงินก้อนใหญ่เข้าประมูล แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นการแข่งขันระหว่างผู้มีสิทธิ์ในชื่อเหล่านั้นด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะมีจำนวนที่จำกัดและน้อยกว่า (โดยเฉพาะชื่อโดเมนบางชื่อที่มีจำนวนผู้แข่งขันน้อย ที่ผู้ผ่านการพิจารณาสิทธิ์จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของมากกว่าการจดแบบปกติ) ในขณะเดียวกัน ชื่อโดเมนก็มีโอกาสมากกว่าที่จะถูกนำไปใช้ เมื่อเทียบกับการถูกจดโดย cybersquatter หรือนักเก็งกำไรที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับชื่อนั้น

ภายใต้นโยบายนี้ auDA จะสามารถทำกำไรจากชื่อโดเมนได้ถึง 3 ต่อ คือ จากการประมูล, จากใบรับรอง และจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บกับ registrar สำหรับการดูแลทะเบียนชื่อโดเมนตามปกติ นอกจากนั้นแล้ว การเปิดตลาดภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่จำกัดแบบนี้ ยังเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคด้วย ซึ่งจะเป็นการปลุกกระแสให้ชาวออสซี่หันมาสนใจชื่อโดเมน .au ที่เป็นของประเทศตัวเองมากขึ้น ส่วนทาง auDA จะมีกำไรเหลือพอมาลดราคาค่าจดทะเบียนให้กับชื่อโดเมนอื่นๆ ได้ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่นั้น..ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป เพราะหากนโยบายเชิงรุกของ auDA ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ บางทีในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ชื่อโดเมน .th ของบ้านเราก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นบ้างก็ได้


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
Newsbytes, Adam Creed, "Australian Generic Net Names Auction Fires Interest", (5 Febuary 2002)
auDA, "auDA Generic Domain Names Auction", (5 Febuary 2002)
auDA, "auDA Launches Generic Domain Name Auction", (18 December 2001)
auDA, "com.au policy"


ยังมีบทความดีๆรอให้คุณอ่านอยู่อีกมากครับ
 



Copyright © 2000-2007 Infonova Co., Ltd. All rights reserved.   

• แก้ไขข้อมูลโดเมนเนม
• ย้ายโดเมนเนมจากที่อื่น
• บริการ NetRedirection
• ค่าบริการจดโดเมนเนม
• การชำระค่าบริการ